ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) หากอกหัก เสียใจ มาก ๆ หัวใจจะสลายจนเสียชีวิตได้ไหม ?
ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ Takotsubo Cardiomyopathy เป็นกลุ่มอาการของโรคหัวใจโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) เกิดเต้นอ่อนแรงเฉียบพลันทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลงชั่วคราว ซึ่งหัวใจห้องนี้เป็นหลักในการส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ และ อวัยวะต่างๆ ทั้งร่างกาย ทำให้หัวใจขาดเลือดฉับพลัน ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ คล้ายอาการหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน
อาการของภาวะหัวใจสลาย
- เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงอย่างเฉียบพลัน คล้ายอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะมีอาการนานหลายนาที หรือ เป็นชั่วโมง
- หายใจขัด หายใจลำบาก
- อาการเหนื่อย มีภาวะน้ำท่วมปอด
- หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
- ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในบางรายอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอันตรายถึงชีวิตได้
แม้อาการจะเป็นชั่วคราว และ คนส่วนใหญ่อาการมักดีขึ้นเอง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อกหักเกี่ยวอะไรกับภาวะหัวใจสลาย ?
การอกหัก ทำให้เกิดอาการเสียใจ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจเจอ หรือ พบได้ตามปกติประจำวัน ทำให้เกิดความเครียดขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง คล้ายลักษณะของการสูญเสียอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจสลายขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน
ภาวะหัวใจสลายมักเกิดกับใคร
1.ผู้ที่มีภาวะอารมณ์สะเทือนใจสุดขีด ทั้งเรื่องร้าย หรือ เรื่องดีที่ไม่คาดฝัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องร้าย เช่น ความเครียดรุนแรง การสูญเสียแบบเฉียบพลัน อกหัก เศร้าเสียใจสุดขีด เป็นต้น
2.ประมาณ 90% ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง และ 80% เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ช่วงอายุที่พบบ่อย 58-77 ปี
3.ผู้มีความเครียดสูง
4.ผู้มีอาการปวดที่รุนแรง
5.ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
6.อาการของหัวใจสลาย จะไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) ซึ่งในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น มีประมาณ 1% ที่เป็น Stress-induced Cardiomyopathy
การดูแลรักษา
1.หลังจากได้รับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ และ วินิจฉัยแยกโรคจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแล้ว แพทย์จะให้ยาที่ไปควบคุมการเต้น และ การบีบตัวของหัวใจ รวมถึงแก้ไขปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค (ซึ่งพบได้เพียง สองในสามในผู้ป่วยทั้งหมด)
2.ประคับประคอง รักษาระดับความดัน ชีพจร ระดับออกซิเจนให้เหมาะสมเพียงพอ
3.รักษาความผิดปกติทางร่างกาย อาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นภาวะเครียดรุนแรง
4.ผู้ป่วยส่วนใหญ่กล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอ จะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นและกลับมาปกติได้ใน 4-8 สัปดาห์
ในกรณีที่เกิดจากความเครียด เหนือสิ่งอื่นใดคือ การดูแลสุขภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วยการรับมือกับปัญหา และ จัดการความเครียด โดยร่วมปรึกษาหารือกับครอบครัว คนรอบตัว จิตแพทย์ เพื่อแก้ไขปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค และ สาเหตุที่กระตุ้นภาวะเครียด
อ้างอิงจาก: https://wattanapat.co.th/broken-heart-syndrome
https://www.nakornthon.com/article/detail/เสียใจหนัก-อกหัก-เครียดจัด-ระวังโรคหัวใจสลาย
https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/broken-heart-syndrome
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/โรคหัวใจสลาย