ลงทุนแบบบัฟเฟตต์ในไทย โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์”มีมากมาย และแม้ว่าบัฟเฟตต์เองจะเคยอธิบายวิธีการลงทุนของตนเองอย่างละเอียด แต่ความคิดและวิธีการลงทุนของเขานั้น ผมคิดว่าถูกฉายภาพออกมาค่อนข้างชัดเจน
ทั้งหมดถูกสนับสนุนและยืนยันจากการลงทุนที่ผ่านมาของเขา
ผมคิดว่าเรารู้ว่าบัฟเฟตต์ลงทุนอย่างไร แต่คำถามที่ใหญ่กว่าคือสามารถ “ประยุกต์” ใช้วิธีการของเขาในตลาดหุ้นไทยได้หรือไม่
คำตอบของผมก็คือ หลักการลงทุนของเราก็น่าจะดีขึ้นเท่านั้น แต่แน่นอนเราคงทำผลงานได้ไม่เท่าเขา เพราะเราอยู่ในตลาดหุ้นที่มีทางเลือกน้อยกว่ามาก
เช่นเดียวกับข้อจำกัดต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยในประเทศของการลงทุนอย่างเมืองไทย ถึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ก็ยังน่าจะห่างกับสิ่งที่บัฟเฟตต์และผู้ที่ติดตามเขาในสหรัฐทำได้
ข้อแรก ก็คือ บัฟเฟตต์เลือกลงทุนในหุ้นซูเปอร์สต็อกเป็นหลัก นั่นหมายถึงหุ้นที่มีความเข้มแข็งทางด้านการตลาดสุดยอด สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ในระดับที่ดี มีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน
มีกำไรสูงเมื่อเทียบกับยอดขายและส่วนของผู้ถือหุ้น มีหนี้น้อยและเป็นกิจการที่ต้องการเงินลงทุนต่ำ แต่สร้างกระแสเงินสดสูง...ที่สำคัญ มีผู้บริหารที่ดีเยี่ยมและไว้ใจได้
ในตลาดหุ้นไทย บริษัทที่จะเป็นซูเปอร์สต็อกหาได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถหาบริษัทที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงเพื่อลงทุนได้ ความยากลำบากในการหาหุ้นที่มีคุณภาพในระดับของหุ้นบัฟเฟตต์ในวันเกิดตลาดหุ้นไทย ทำให้ Value Investor ส่วนใหญ่ “ถอดใจ”เขาคิดว่าในเมื่อหาบริษัทแบบนี้ไม่ได้ก็เลยเลิกสนใจปัจจัยทางด้าน
คุณภาพของกิจการ หรือให้น้ำหนักน้อย แต่เน้นไปที่ปัจจัยทางด้านราคาหรือสภาวะอื่นๆ ซึ่งถอยห่างจากแนวทางของบัฟเฟตต์
ข้อสอง บัฟเฟตต์มองหาหุ้นที่มีความแน่นอนสูงมาก ในด้านผลการดำเนินงาน และคุณสมบัตินี้จะต้องดำเนินต่อไปได้ยาวนาน โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจต่ำ
พูดง่ายๆ เขาสามารถคาดการณ์อนาคตของธุรกิจไปข้างหน้าได้ยาวนานและด้วยความมั่นใจที่สูงมาก
ประเด็นนี้ ผมเห็นว่าไม่ได้มีปัญหามากนัก แม้ว่ามันจะตัดหุ้นขนาดใหญ่ๆ หลายๆ ตัวในตลาดหุ้นไทยที่เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ หรือทำธุรกิจที่มีความผันผวนมาก แต่มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่เราสามารคาดการณ์อนาคตได้อย่างค่อนข้างมีความมั่นใจ
ข้อสาม การลงทุนแบบเน้นหุ้นจำนวนน้อยตัว หรือการลงทุนแบบโฟกัส คือทุ่มเงินซื้อหุ้นจำนวนมากในหุ้นที่ตนเองมีความมั่นใจสูงมาก จะเรียกว่าเป็นการ “ตีแตก” ก็น่าจะได้ และนี่คือกลยุทธ์แบบบัฟเฟตต์ที่จะสามารถสร้างผลงานโดดเด่นกว่าค่าเฉลี่ยมากและยาวนานได้
ในความเห็นของผม แนวทางของบัฟเฟตต์ข้อนี้ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาที่มักเกิดขึ้นก็คือ นักลงทุนมักจะประสบกับอารมณ์ประเภท “รักพี่เสียดายน้อง” หรือ “ใหม่ๆ หน้าตาจุ๋มจิ๋ม” นั่นคือ เขามักจะพบหุ้นดีที่อดใจไม่ได้และจะต้องซื้อไป ในที่สุด ก็จะพบว่าตนเองมีหุ้นกระจายมากไป จนทำให้ผลตอบแทนวิ่งเข้าสู่ค่าเฉลี่ย
แนวทางแบบบัฟเฟตต์ ข้อสี่ นั่นคือ การถือหุ้นที่ดีเยี่ยมมากๆ ให้ยาวนานที่สุด โดยไม่มีการเทรดหรือซื้อขาย แม้ว่าหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าต้นทุนมีกำไรมหาศาล นี่เป็นแนวที่ทำได้และควรทำ แม้ว่าการซื้อขายหุ้นในประเทศไทย จะมีต้นทุนที่ไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่เสียภาษีกำไร ในขณะที่ในตลาดหุ้นสหรัฐ เขาต้องเสียภาษีซึ่งทำให้บัฟเฟตต์พยายามหลีกเลี่ยงการขายหุ้นทำกำไรในระยะสั้น แต่เลือกที่จะถือยาว เพื่อเลื่อนเวลาการจ่ายภาษีออกไปให้นานที่สุด
การถือหุ้น “ชนะ” ให้ยาวนานที่สุด ผมคิดว่าเป็นหนทางที่จะทำให้เกิดกำไรสูงสุด แต่ความยากลำบากสำหรับนักลงทุน ก็คือความคิดที่ว่าหุ้นเมื่อขึ้นไปมากและเร็ว จะปรับตัวลง ดังนั้น เราควรขายทำกำไรไปก่อนแล้วค่อยกลับไปซื้อเก็บใหม่ทีหลัง เมื่อหุ้นปรับตัวลง
นี่เป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เรารู้ว่าหุ้นจะปรับตัวลงต่ำกว่าที่เราขายไป แต่โอกาสผิดนั้นมีมาก และเมื่อผิดแล้วเรามักจะไม่กลับไปซื้ออีก ซึ่งอาจทำให้เราเสียหุ้นซูเปอร์สต็อกตัวนั้นไปตลอดกาล
อ้างอิง : ชนะอย่างเต่า