ตาข่ายดักฝัน จากความเชื่อสู่แฟชั่น
มีความเชื่อกันว่าตาข่ายดักฝัน(Dream Catcher) จะช่วยกรองความฝัน ซึ่งเกิดขึ้นในยามหลับ เพราะเมื่อนอนหลับเป็นเวลาที่มนุษย์มีการระแวดระวังภัยน้อยที่สุด จึงเป็นเหตุให้บรรดาสิ่งชั่วร้ายและเหล่าภูตผีปีศาจอาศัยโอกาสนี้เข้าคุกคามโดยการแฝงตัวมาในรูปแบบของฝันร้าย ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียนแดงจึงได้ประดิษฐ์เครื่องรางซึ่งเป็นงานหัตถกรรมประจำชนเผ่า เพื่อที่จะช่วยคุ้มครองป้องกันผู้คนโดยเฉพาะทารกและเด็กให้แคล้วคลาดจากการอันตราย
ตาข่ายดักฝันเป็นเครื่องรางดักจับความฝัน มีที่มาจากอินเดียแดงเผ่าโอจิบวี (Ojibwe) หรือชนเผ่าชิบเปวา (Chippewa) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกา และตามความเชื่อของเผ่ายังมีเทพธิดาแมงมุมที่เรียกว่า Asibikaashi ที่คอยดูแลรักษา ปกป้องเด็กๆและผู้คนในหมู่บ้าน ให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ จึงทำให้เครื่องรางดักจับความฝัน มีลักษณะคล้ายกับสายใยจากแมงมุม ที่มีพลังอำนาจวิเศษที่จะกำจัดสิ่งชั่วร้ายออกไปได้
เครื่องรางนี้ มีลักษณะเป็นวงกลมถูกสร้างขึ้นจากไม้จำพวกหลิว ด้านในถูกถักทอด้วยเชือกเป็นโครงตาข่ายคล้ายใยแมงมุม ในรูปแบบดั้งเดิมของตาข่ายจะมีทั้งหมด 8 จุด นั่นหมายถึงขาแมงมุมทั้ง 8 ขา ด้านล่างประดับด้วยขนนก ที่แทนสัญลักษณ์ของอากาศ และ ลมหายใจ ซึ่งจะหมายถึงการมีชีวิต และยังตกแต่งด้วยลูกปัด เครื่องประดับต่างๆ ก่อนที่จะนำไปทำพิธีกรรมทางความเชื่อ และจะนำมาแขวนไว้บริเวณเหนือที่นอน มีหน้าที่คัดกรองฝันดีให้ผ่านเข้าไปและดักจับฝันร้ายไม่ให้เล็ดลอดไปสู่ผู้ที่นอนหลับ เมื่อถึงตอนเช้าฝันร้ายที่ติดอยู่กับตาข่ายดักฝันก็จะถูกแสงอาทิตย์แผดเผาไป
ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่นสะดุดตาทำให้ตาข่ายดักฝันได้รับความนิยม และในปัจจุบันมีการผลิตออกมาในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับผู้สวมใส่อีกด้วย