โรคเคาช์โปเตโต้ในเด็ก หรือ โรคขี้เกียจ การปล่อยให้เด็กจดจ่อกับหน้าจอ จนเกิดอาการเฉื่อยชา หากปล่อยไว้นาน ยิ่งเสี่ยงโรคร้ายแรง !
โรคเคาช์โปเตโต้ (Couch Potato) หรือ โรคขี้เกียจ คือ การปล่อยให้เด็กจดจ่ออยู่แต่กับการดูโทรทัศน์ ท่องโลกอินเตอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน ทำให้เด็กเสพติดการนั่ง ๆ นอน ๆ ดูโทรทัศน์ ดูวิดีโอ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ และ สมาร์ทโฟน จนไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย ไม่ลุกเดินไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ส่งผลให้เด็กเฉื่อยชา
ผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กที่เป็น โรคเคาช์โปเตโต้ (Couch Potato) หรือ โรคขี้เกียจ
- พัฒนาการทางด้านร่างกาย เนื่องจากเด็กจะนั่งนิ่ง ๆ ใจจดใจจ่อกับหน้าจอ ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ขยับกล้ามเนื้อในการทำกิจกรรมอื่น และ ไม่ออกกำลังกาย ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่คล่องแคล่ว ป่วยง่าย ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- พัฒนาการทางด้านสมอง เพราะเด็กจะจดจ่ออยู่กับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน ที่มีการกระตุ้นที่มากเกินไป ภาพเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว สีสันสนใส ทำให้ไม่สนใจกับกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ หรือ ใช้สมองในการแก้ปัญหา ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หากไม่ได้รับการแก้ไขในระยะยาวจะทำให้เป็นเด็กสมาธิสั้น
- พัฒนาการทางด้านภาษา และ การสื่อสาร การที่ปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่กับการนั่งดูหน้าจอ เป็นเวลานานจะทำให้เด็กขาดการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น พูดน้อยลง เพียงแค่รับฟัง ไม่มีการตอบโต้ ทำให้พัฒนาการด้านการภาษาและการสื่อสารช้า
- ระบบประสาทตา การที่เด็กจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ดูเป็นเวลานาน และ การได้รับรังสีที่ส่งผลเสียต่อดวงตา ในขณะที่พัฒนาการของจอรับภาพประสาทตาเด็กเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ตาขาดน้ำหล่อเลี้ยง เกิดอาการระคายเคือง สายตาแย่ลง
- โรคอ้วน เนื่องจากร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหว หรือ ตกอยู่ในภาวะเคาช์โปเตโต้เป็นเวลานาน ไม่เคยได้รับการเคลื่อนไหวยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ซึ่งอาจจะตามมาด้วยโรคร้ายอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
- ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน ก้าวร้าว เนื่องจากหน้าจอที่เด็กดูมีการเคลื่อนไหวรวดเร็วตามที่ต้องการ จึงส่งผลให้เด็กไม่มีความอดทน และ รอคอยไม่เป็น
- เข้าสังคมยาก เนื่องจากเด็กไม่ค่อยได้เล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ทำให้ขาดการปรับตัว เมื่อต้องเข้าสู่สังคม จึงปรับตัวเข้าหาผู้ใหญ่ เพื่อน ๆ และ ผู้อื่น ไม่เป็น การใช้ชีวิตพื้นฐานในการอยู่ในสังคมจะแย่ลง และ อยู่กับคนอื่นไม่ได้ในที่สุด
วิธีการป้องกันและแก้ไข
1.เริ่มที่ผู้ปกครองควรทำตัวเป็นแบบอย่างโดยการห่างหน้าจอลงบ้าง เราไม่สามารถบอกให้เด็กหยุดเสพเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้หากตัวเราเองยังคงมีพฤติกรรมการใช้งานที่มากเกินไป
2.ควรเปลี่ยนมาเน้นการทำกิจกรรมและพูดคุยกับเด็กมากขึ้น เบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก ด้วยการทำกิจกรรมนอกสถานที่ เสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้แก่เด็ก เช่น พาไปเดินเล่น ออกกำลังกาย เล่นของเล่นในสวนสาธารณะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ให้ทำกิจกรรมเหล่านี้เพียงวันละ 30 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ และ เปลี่ยนสถานที่ในการทำกิจกรรมร่วมกันบ้างเพื่อไม่ให้ดูน่าเบื่อจนเกินไป
3.กำหนดเวลาในการใช้เทคโนโลยีที่ชัดเจน ไม่ควรให้เด็กใช้เทคโนโลยีติดต่อกันนาน 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือ ให้ดูรายการโทรทัศน์ที่ชอบเพียงหนึ่งรายการ และควรลดลงเรื่อย ๆ จนเด็เริ่มเคยชินกับการไม่ต้องเล่นอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ ในที่สุด