เหงา (Loneliness) ภัยคุกคามต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ
ความเหงา (Loneliness)
เป็นความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ว่าตนขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยกว่าที่ตนต้องการ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ ปฏิกิริยาโต้ตอบทางอารมณ์ต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว และตีความสถานการณ์ในความสัมพันธ์ของตน
อย่างเช่น การที่คนคนหนึ่งมีเพื่อนหลายคน ไปพบและเจอเพื่อนบ่อย แต่ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาได้จากการรับรู้ว่าความสัมพันธ์ที่ตนมีนั้นไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงกับความคาดหวัง ในขณะเดียวกันคนที่มีเพื่อนน้อย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ สามารถแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ก็อาจจะไม่ได้มีความเหงาเกิดขึ้น
ประเภทของความเหงา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient Loneliness) หรือจะเรียกว่า ความเหงาในชีวิตประจำวัน (Everyday Loneliness) เป็นความเหงาที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความเหงาประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด แต่อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก
2.ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต อย่างเช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การหย่าร้าง การจบความสัมพันธ์กับใครสักคน หรือการย้ายถิ่นฐานของคนที่มีความผูกพันต่อกัน
3.ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่นเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกัน และไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ความเหงาประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีปัญหาในด้านการปรับตัว
สาเหตุของความเหงา
- มีผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากกว่าเมื่อก่อน ชีวิตที่ไร้เพื่อน ยามอยู่ที่บ้านนี้ อาจส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตทางสังคมของคน ๆ นั้นได้
- ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ผลการศึกษาวิจัยเมื่อปี1970 นั้น พบว่าผู้คนในประเทศอเมริกามีอายุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปีสำหรับผู้หญิง และ 67 ปีสำหรับผู้ชาย และพอถึงปี 2014 ก็เพิ่มเป็น 81 ปีสำหรับผู้หญิง และ76 ปีสำหรับผู้ชาย
- การทำงานที่แตกต่างไป เมื่อเปรียบชีวิตของผู้คนสมัยนี้กับผู้คนสมัยก่อน คนในยุคนี้จะใจจดใจจ่ออยู่กับงานมากกว่าจะนึกถึงเรื่องความสัมพันธ์
- การสื่อสารแตกต่างไปจากเดิม การสื่อสารทางระบบอิเลคโทรนิคกลายเป็นช่องทางหลักของสังคมในยุคนี้ การสื่อสารแบบนี้ ทำให้การสื่อสารระหว่างบุคคลลดลงไปโดยปริยาย
- การใช้โซเชียลมีเดีย จะส่งผลกระทบทางด้านลบต่อคนบางคน อย่างเช่น โซเชียลมีเดียให้ประโยชน์ทางด้านสังคมกับเด็กวัยรุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขามีความพึงพอใจในการใช้ชีวิตทางสังคมน้อยลง ในทางตรงกันข้าม โซเชียลมีเดียอาจช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกติดต่อกับคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น ผลกระทบทางโซเชียลมีเดียที่มีต่อความเหงานั้นขึ้นอยู่กับการใช้ของแต่ละบุคคล
- ผลการศึกษาวิจัยในปี2009 พบว่า กลุ่มก้อนทางสังคมมีขนาดเล็กลง เมื่อมีเครือข่ายทางสังคมเล็กลง และมีคนรู้จักทางสังคมน้อยลง จะทำให้มีความรู้สึกเชื่อมโยงทางสังคมน้อยลงตามไปด้วย
- ความเหงาสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น รวมถึงประสบการณ์ในอดีตอาจทำให้บุคคลมีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น ทำให้เกิดการรับรู้และตีความว่าตนเองกำลังรู้สึกเหงาขึ้นมาได้
- ลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลที่มีความแตกต่างกัน อย่างเช่น บุคลิกภาพแบบขี้อาย (shyness) หรือการขาดทักษะทางสังคม ก็อาจจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกเหงาได้ง่ายกว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบมั่นใจ (confident)
- ค่านิยม และบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม อย่างเช่น วัฒนธรรมของคนตะวันตกเน้นให้บุคคลพึ่งพาตนเองสูง และพยายามทำเป้าหมายให้สำเร็จลุล่วงด้วยตนเอง อาจจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาได้มากกว่า วัฒนธรรมของคนเอเชียที่เน้นการอยู่ร่วมกัน และช่วยเหลือกันภายในสมาชิกของครอบครัว
- สถานการณ์ทางสังคม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อย่างเช่น ความเครียดของคนว่างงาน ความรู้สึกไม่พึงพอใจในสถานภาพสมรส การสูญเสียคนรัก การเปลี่ยนแปลงจากการย้ายที่อยู่ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้บุคคลรู้สึกเหงาได้
ผลกระทบของความเหงา
- เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ใหญ่ในวัยสูงอายุจะมีความดันโลหิตสูงขึ้นเมื่อมีความรู้สึกเหงา
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
- ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้มีคุณภาพในการนอนไม่ดี และรบกวนการนอนหลับ ก่อให้เกิดปัญหาในช่วงระหว่างวันได้ ซึ่งรวมถึงความรู้สึกเซื่องซึม หรือการไม่มีเรี่ยวแรงในการทำอะไร
- ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าความเหงาทำให้ผู้ใหญ่ในวัยสูงอายุมีอาการซึมเศร้ามากขึ้น
- ส่งผลให้มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ
- ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลงผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความเหงาอาจนำไปสู่ระบบภูมิต้านทานที่อ่อนแอลง มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรค หรือเกิดอาการติดเชื้อ ความเหงาอาจทำให้มีการอักเสบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น การอักเสบเป็นเวลานาน มีส่วนเชื่อมโยงถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง และภาวะแทรกซ้อนจากโรคไต
- ส่งผลกระทบทางด้านสติปัญญาของผู้สูงอายุพบว่า ผู้ใหญ่ในวัย 65 ปีขึ้นไปที่มีความรู้สึกเหงา จะมีระดับสติปัญหาที่ลดลงได้เร็วกว่าผู้สูงอายุในวัยเดียวกันที่ไม่รู้สึกเหงาได้ถึงร้อยละ 20
- มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตมากขึ้นผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีนั้น มีความเสี่ยงที่จะตายด้วยเหตุผลผลใด ๆ ก็ตาม น้อยกว่าคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ถึงร้อยละ 50
เคล็ดลับป้องกันความรู้สึกเหงา
- จงรู้ไว้ว่า ความรู้สึกเหงา คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้ว
- จงเข้าใจถึงผลกระทบที่ความรู้สึกเหงามีต่อชีวิตของเรา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทบทวนความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตนว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น คือความเหงา ความเศร้า ความโดดเดี่ยว หรือเป็นความรู้สึกอะไร เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
- ลองหากิจกรรมการกุศล หรือกิจกรรมอื่น ๆ ทำ ซึ่งกิจกรรมพวกนี้ จะทำให้มีโอกาสได้เจอกับผู้คน และได้สานสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- ทำความรู้จักกับผู้คนที่มีทัศนคติ และความสนใจคล้าย ๆ กัน พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างโดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพของตน บอกเล่าความรู้สึก เรื่องราวในชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ
- เลี้ยงสัตว์เลี้ยงการมีสัตว์เลี้ยงสักตัวจะทำให้เกิดความผูกพัน เกิดความสัมพันธ์ที่มีความหมาย และช่วยลดความเหงาลงไปได้
- พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยาเพื่อหาวิธีรับมือกับความเหงาเพิ่มเติม