โรคเครียดฉับพลัน Acute stress disorder (ASD) หรือ โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง Posttraumatic stress disorder (PTSD)
โรคเครียด (Acute Stress Disorder) คือ ภาวะที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากเหตุการณ์ร้ายแรง เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด จะเกิดอาการเครียดประมาณหนึ่งเดือน หากเกิดอาการนานกว่านั้น จะกลายเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (Posttraumatic Stress Disorder: PTSD) เป็นโรคที่เกิดหลังจากที่ผู้ป่วยเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรง อย่างเช่น ภาวะสงคราม อุบัติเหตุร้ายแรง ถูกทารุณกรรม ถูกข่มขืน ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง จึงก่อให้เกิดอาการทางจิตเวชที่จำเพาะ โดยทั่วไปอาการมักเกิดหลังประสบเหตุทันที
อาการของโรคเครียด
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดมักเกิดอาการของโรคทันทีที่เผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด โดยจะเกิดอาการของโรคเป็นเวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาการโรคเครียด มีดังนี้
- เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงซ้ำ ๆผู้ป่วยจะเห็นฝันร้าย หรือนึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ความรู้สึกเหมือนเหตุการณ์กลับมาเกิดอีก มีความทุกข์ใจ หรือมีปฏิกิริยาทางร่างกาย เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ หรือคล้ายกับเหตุการณ์นั้น
- อารมณ์ขุ่นมัวอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเครียดมักแสดงออกมาในเชิงลบ ผู้ป่วยจะรู้สึกอารมณ์ไม่ดี มีความทุกข์ ไม่ร่าเริงแจ่มใสหรือรู้สึกไม่มีความสุข
- มีพฤติกรรมแยกตัวออกมาผู้ป่วยจะเกิดหลงลืมมึนงง ไม่มีสติหรือไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวเอง การรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือตัวผู้ป่วยเองผิดไปจากความเป็นจริง ตกอยู่ในภาวะงุนงง รู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง
- หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ สิ่งของ กิจกรรม หรือบทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
- ไวต่อสิ่งเร้าผู้ป่วยจะนอนหลับยาก โมโหหรือก้าวร้าว ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ มีอาการตื่นตัว หงุดหงิด โกรธง่าย มีพฤติกรรมบ้าบิ่น หรือทำร้ายตนเอง ระแวดระวังมากไป ตกใจมากกว่าปกติ มีปัญหาด้านสมาธิ
สาเหตุโรคเครียด
- การพบเจอ หรือรับรู้เหตุการณ์อันตรายที่ร้ายแรงมาก อย่างเช่น การประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต การได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง รวมทั้งทราบข่าวการเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ การป่วยร้ายแรงของคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
- การออกรบของทหาร
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ถูกโจรปล้น
- ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- ทราบข่าวร้ายอย่างกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว
- เคยเผชิญเหตุการณ์อันตรายอย่างรุนแรงในอดีต
- มีประวัติป่วยเป็นโรคเครียด หรือภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ
- มีประวัติประสบปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง
- มีประวัติว่าเกิดอาการของโรคดิสโซสิเอทีฟเมื่อเผชิญเหตุการณ์อันตราย อย่างเช่น หลงลืมตัวเอง หรือสิ่งต่าง ๆ อารมณ์แปรปรวนกะทันหัน วิตกกังวล หรือรู้สึกซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ เป็นต้น
การรักษาโรคเครียด
- ปรึกษาแพทย์ การปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นวิธีรักษาโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดอาการรุนแรงและเป็นมานาน โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยจัดการอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้
- บำบัดความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดความวิตกกังวลและอาการไม่ดีขึ้น จะได้รับการรักษาด้วยวิธีบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) การบำบัดความคิดและพฤติกรรมเป็นวิธีจิตบำบัดที่มีแนวคิดว่าความคิดบางอย่างของผู้ป่วยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยโรคเครียดอาจได้รับการบำบัดระยะสั้น โดยแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึก และความคิดของผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือ การให้กำลังใจผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความคิดบางอย่างนั้นไม่ถูกต้อง และปรับทัศนคติของผู้ป่วยที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้มองทุกอย่างได้ถูกต้อง และตรงตามความเป็นจริง
- ใช้ยารักษา แพทย์อาจจ่ายยารักษาโรคเครียดให้แก่ผู้ป่วยบางราย โดยผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาด้วยยาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดของร่างกาย ปัญหาการนอนหลับ หรืออาการซึมเศร้า โดยยาที่ใช้รักษาโรคเครียด
การป้องกันโรคเครียด
- หลังจากเผชิญสถานการณ์ร้ายแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อช่วยลดโอกาสป่วยเป็นโรคเครียด
- ผู้ที่ประกอบอาชีพซึ่งเสี่ยงเผชิญสถานการณ์อันตราย อย่างเช่น ทหาร อาจต้องเข้ารับการฝึกซ้อมรับมือเหตุการณ์อันตรายและปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ และลดโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคเครียด
- ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- ฝึกหายใจลึก ๆ ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือนวด เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย รวมทั้งทำจิตใจให้แจ่มใส
- พบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือพูดคุยกับครอบครัว
- หางานอดิเรกทำในยามว่าง อย่างเช่น อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ
อ้างอิงจาก: โรคเครียด - อาการ, สาเหตุ, การรักษา - พบแพทย์ (pobpad.com)
PTSD ภาวะเครียดหลังเจอเหตุการณ์รุนแรง - Bangkok Mental Health Hospital