โรคเบาหวานกับฟัน สัมพันธ์กันอย่างไร เรื่องสำคัญที่ควรรู้ ส่งผลต่อกันอย่างไร ?
เบาหวาน ส่งผลต่อความผิดปกติกับผนังหลอดเลือด เส้นประสาทส่วนปลาย ไต และ เรตินาในช่องปาก เมื่อช่องปากของผู้เป็นเบาหวานติดเชื้อ จะมีอาการเจ็บปวด เนื่องจากสุขภาพช่องปากไม่แข็งแรง เพิ่มความต้านทานต่ออินซูลิน สูญเสียการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ยิ่งถ้าควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้มากขึ้น
*โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ และสูญเสียฟันมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน
แนวทางการทำทันตกรรมในผู้เป็นเบาหวาน
ผู้เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติมานาน พยาธิสภาพของหลอดเลือดฝอยบริเวณเหงือก กับ เส้นประสาทส่วนปลายจะขาดความสมดุล มีภาวะปากแห้ง ปวด แสบร้อนในช่องปาก ต่อมน้ำลายโต สูญเสียการรับรส มีความเสี่ยงเป็นโรคปริทันต์อักเสบสูง ไวต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ ติดเชื้อราในช่องปากสูงขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้เป็นเบาหวานต้องได้รับการตรวจรักษาทางทันตกรรม อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และยังเป็นประโยชน์ต่อการลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้
- รักษาในช่วงเช้า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารและยา ช่วยลดความเครียดจากการรักษาให้เกิดน้อยที่สุด ป้องกันภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้
- ให้การรักษาทางทันตกรรมได้ตามปกติ กรณีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นอย่างดี (<126 มิลลิกรัม/ เดซิลิตร) หรือ ไม่สูงเกินกว่า 200 มิลลิกรัม/ เดซิลิตร กรณีถอนฟัน หรือ ผ่าตัดเล็ก ทันตแพทย์จะดูแลตัดแต่งฟันให้เรียบร้อย เพื่อลดภาวะการติดเชื้อ หรือกระดูกตาย ที่อาจเกิดได้ง่ายกว่าผู้ป่วยปกติ
- เลื่อนรับการรักษาออกไปก่อน หรือรักษาเฉพาะอาการฉุกเฉิน โดยพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อร่วมด้วย และส่งปรึกษาแพทย์ทันที กรณีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/ เดซิลิตร
- รักษาเฉพาะอาการฉุกเฉินและส่งปรึกษาแพทย์ทันที กรณีอยู่ระหว่างการรักษาด้วยอินซูลิน และเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (< 70มิลลิกรัม/ เดซิลิตร) ควรดื่มน้ำหวาน หรือ ลูกอมทันที เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด