ปิดกล่องชอล์ค
ลมหนาวใกล้ลงมาแล้ว นักเรียนปิดเทอมต้น ข้าวใกล้ออกรวงสะพรั่งทุ่ง
เย็นวันศุกร์ ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ ผมเดินอยู่ในเมืองขอนแก่นกับพี่ชาย เข้าไปในร้านคาราโอเกะ ครูเก้าคนรวมทั้งผอ. กำลังร้องเพลงสนุกสนาน วันนี้ทุกคนมาปิดกล่องชอล์ค
สำนวนนี้ เป็นสำนวนที่ครูทางขอนแก่นใช้กัน (ผมเพิ่งได้ยิน) หมายถึง จบภาคเรียน จบการทำงานในภาคเรียนที่ผ่านมา (เสียที) เป็นความโล่งอกปนรื่นรมย์ ที่ได้ตรากตรำลำเค็ญกันมาตลอดภาคเรียน จะได้พักผ่อนสัปดาห์สองสัปดาห์ ให้มีแรงสู้งานต่อ ในภาคเรียนที่สอง
เมื่อตะกี้ในรถ พี่เป็ด พี่ชายครูสยาม (ตอนนี้ 2567 เป็นผอ.แล้ว) ที่ผมมาเยี่ยมนี้ บอกว่า “ปิดกล่องชอล์ค” ก็คล้ายกับ “สั่นสาด” คือเลิกงาน เป็นสำนวนบอกว่าเลิกเวลางานแล้ว ซึ่งมาจากการที่งานเลิก หมอลำลำลาแล้ว ก็ต้องเก็บเสื่อที่นั่งชมงาน ก่อนเก็บก็ต้องสั่นเอาเศษขยะ ฝุ่นฝอยออกไปให้หมดก่อน แล้วค่อยม้วนถือกลับบ้าน
การสั่นสาดนี้ ตอนพาเด็กนักเรียนไปอบรมจริยธรรมคุณธรรมที่วัด ก็เคยทำ นักเรียนพี่เลี้ยงช่วยกันเก็บสาด(เสื่อ-ภาคกลาง) ไปเก็บไว้ แล้วก็เอาไม้กวาดมาปัดกวาดพื้นศาลาให้สะอาด รอนักเรียนโรงเรียนอื่นมาเข้าค่ายรุ่นต่อไป
ที่บ้านนอก มีสาดไว้ใช้งาน ปูนั่งเล่น ปูกินข้าว ไปเที่ยวไหนกัน ก็ไม่ลืมนำเสื่อสาดไปด้วย เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อวิถีชีวิตคนไทอีสานเรา แม้เจ็บป่วยยังมีสำนวน “ล้มหมอนนอนเสื่อ” ที่จริงต้องบอก “เสื่อดูดดึงกาย” มากกว่า
หันมาที่ “ปิดกล่องชอล์ค” อีกที ครูสยาม-พี่ชาย เล่าว่า ทุกวันนี้ ไม่ค่อยใช้ชอล์คกันแล้ว บางคนก็ว่า “ปิดปากกาไวท์บอร์ด” บ้างก็ว่า “ปิดกระดานไวท์บอร์ด” แต่สรุปแล้วก็ไม่ขลังเหมือน “ปิดกล่องชอล์คอยู่ดี”
การปฏิรูปการศึกษาหลังมี พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นผลมาจากมีรัฐธรมนูญฉบับใหม่ ปี ๒๕๔๐ โรงเรียนทั้งหลายก็ขานรับนโยบาย และทำตามหลักสูตรใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ บางโรงก็เปลี่ยนกระดานดำเป็นกระดานไวท์บอร์ด บางโรงก็ลด งดการใช้ชอล์คนัยว่าให้ครูเลิก “ทอล์คแอนด์ชอล์ค” ให้สอนแบบเน้นเด็กเป็นสำคัญ เด็กเป็นศูนย์กลาง ประเมินผลตามสภาพจริง
ก็ว่ากันไป จริง ๆ แล้ว จะปฏิรูปอย่างไร ครูผู้สอนั่นแหละรู้ดีที่สุด ครูแท้ย่อมสอนศิษย์ให้มีความรู้ความสามารถได้ด้วยจิตวิญญาณ อย่างอื่น ๆมันมาของมันเอง ผมเชื่ออย่างนี้จริง ๆ
ค่ำวันนั้น ก่อนกลับผมก็ได้ร้องเพลงให้ครูทั้งหลายฟัง “ อย่าลืมฟังเสียงใจอ้ายเอิ้นสั่ง….”
เอิ้นสั่งใครดีนะ ว่า “ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนา การดูแลเด็ก ๆ เยาวชน จริง ๆ จริง ๆ นะ”