ลึงคบรรพต แห่งภูโค้ง ศาสนบรรพตที่สาบสูญ
ที่ตั้ง เทือกเขาภูแลนคา ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
ประติมากรรมรูปศิวลึงค์ที่ภูโค้ง เป็นหลักฐานแหล่งอารยธรรมโบราณ สมัยประวัติศาสตร์ในชัยภูมิ ยุคสมัยที่รับวัฒนธรรมขอมสมัยเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 16-18) วัฒนธรรมขอม พัฒนาการมาจากการรับวัฒนธรรมอินเดีย ผ่านอาณาจักรชวา ของกลุ่มชนในดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชายุคปัจจุบัน
ช่วงการพัฒนา แบ่งเป็น 3 สมัย คือ สมัย เจนละ (พ.ศ.1100-1300) สมัย กัมพูชา (พ.ศ.1300-1450) สมัย เมืองพระนคร (พ.ศ.1450-1800)
วัฒนธรรมเขมรสมัยเจนละและกัมพูชา แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12-15 แต่มีอิทธิพล ครอบคลุมเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำมูล ลุ่มแม่น้ำชีตอนล่างในภาคอีสาน และที่ราบภาคกลาง
บริเวณลุ่มแม่น้ำชีตอนบน ในเขตชัยภูมิ เพิ่งรับอิทธิพลของวัฒนธรรมขอม ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยเมืองพระนคร และมีอิทธิพลอยู่จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18 หลังสิ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอมได้เสื่อมอำนาจลง ทำให้วัฒนธรรมขอมในประเทศไทย ค่อยๆ เสื่อมอิทธิพล และสูญสิ้นไป
โบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอมในจังหวัดชัยภูมิ มักจะปรากฏอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำชี ในชัยภูมิตอนล่าง มากกว่าลุ่มแม่น้ำพรม ในชัยภูมิตอนบน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะบริเวณชัยภูมิตอนล่าง เป็นดินแดนที่อยู่ใกล้ และมีพื้นที่ติดกับเมืองพิมาย ศูนย์กลางของการขยายอิทธิพล ของวัฒนธรรมขอมสมัยเมืองพระนคร
บริเวณชัยภูมิตอนล่าง ยังเป็นช่องทางผ่านของวัฒนธรรมขอม ที่แพร่จากพิมายไปยังภาคกลางบริเวณเมืองศรีเทพ และเมืองละโว้อีกด้วย
ศิวลึงค์ภูโค้ง พบที่บริเวณภูโค้ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ของอุทยานแห่งชาติตาดโตน ในเขตตำบลนาเสียว อำเภอเมือง
ภูโค้ง เป็นภูเขาลูกหนึ่ง ในเทือกเขาภูแลนคา มีความสูง 943 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นภูเขาที่สูงที่สุด ทางภาคตะวันออกของจังหวัดชัยภูมิ บริเวณลานหินบนยอดภูโค้ง ตรงที่เป็นสถานีโทรคมนาคมของกองทัพอากาศ นักโบราณคดี พบซากโบราณสถานแบบวัฒนธรรมขอม และพบศิวลึงค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นหินทราย ตัวศิวลึงค์ มีความสูงจากฐานถึงยอดประมาณ 150 เซนติเมตร นอกจากนี้ ยังพบแท่นประดิษฐานรูปเคารพ ที่ทำจากหินทรายอีกจำนวน 2 ชิ้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า โบราณวัตถุเหล่านี้ น่าจะมีอายุ อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 (ราวๆ 1,000 ปีก่อน)
แท่นรูปเคารพจำนวน 2 ชิ้น สันนิษฐานว่า เป็นที่ประดิษฐานรูปพระพรหมและพระวิษณุ อันเป็นเทพเจ้าอีก 2 องค์ ในตีมูรติ ตามแบบลัทธิไศวนิกาย แสดงให้เห็นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย อันเป็นนิกายที่นับถือพระศิวะ โดยนิยมสร้างศิวลึงค์เป็นรูปเคารพ
ตำแหน่งที่ตั้งของภูโค้ง อันเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ จะอยู่ตรงกลางพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำชี กับพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำพรม บริเวณที่ราบลุ่มทั้ง 2 แห่ง พบร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวารวดี สืบเนื่องมาจนถึงสมัยหลังจำนวนมาก
ศิวลึงค์ที่พบบนภูโค้ง จึงอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่น และเป็นใจกลางของบ้านเมือง ที่ตั้งรอบๆ ภูโค้ง ลักษณะเช่นนี้ มีปรากฏในบริเวณภูเขากลางใจเมือง ที่เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรขอม สมัยพระนครหลายแห่ง เช่น
-ศิวลึงค์บนยอดเขาพนมกุเลน ใจกลางเมืองมเหนทรบรรพต ที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1345-1393) กษัตริย์ขอมผู้ทรงสถาปนาลัทธิเทวราช
-ศิวลึงค์ที่มีพระนามว่า ยโศธเรศวรบนยอดเขาพนมบาเค็ง กลางใจเมืองยโศธรปุระ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ายโศธรวรมันที่ 1 (พ.ศ.1432-1443) กษัตริย์ขอมผู้สร้างศาสนสถานหลังแรก ในบริเวณเมืองพระนคร
การสร้างศิวลึงค์บนภูเขา เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากคติที่ถือว่า โลกมนุษย์ มีภูเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง บริเวณยอดเขาพระสุเมรุ เป็นที่สถิตของพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย ภูเขาใจกลางเมือง และศิวลึงค์บนยอดเขา จึงหมายถึงภูเขาพระสุเมรุและพระศิวะ ในมนุษยโลกนั่นเอง
การพบศิวลึงค์บนยอดเขาภูโค้ง แสดงให้เห็นว่า ดินแดนจังหวัดชัยภูมิ เคยรับวัฒนธรรมขอมภายใต้อิทธิพลศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งเจริญรุ่งเรือง และเป็นศาสนาประจำอาณาจักรขอม มาตั้งแต่สมัยก่อตั้งเมืองพระนคร
อ้างอิงจาก: ลึงคบรรพต แห่งภูโค้ง ศาสนบรรพตที่สาบสูญ
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.2325792574098275&type=3&_rdr
ภาพประกอบ ; ปราสาทหินถิ่นแดนไทย