ข้อดีของการเลิกใส่ส้นสูง เพื่อให้คุณได้สนุกกับชีวิต และสุขภาพที่ดีขึ้น
ข้อดีของการ เลิกใส่ส้นสูง
ช่วยลดอาการปวดหลัง อาการปวดหลังจะหายไป
รองเท้าส้นสูงส่งผลต่อกล้ามเนื้อมากมายหลายส่วน ตั้งแต่เท้า ขา หลังช่วงล่าง หลังช่วงกลาง เรื่อยไปจนถึงกล้ามเนื้อคอ เวลาที่เราใส่ส้นสูง กระดูกเชิงกรานจะแอ่นไปทางด้านหลัง ส่งผลให้เกิดแรงกดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว และกล้ามเนื้อในบริเวณใกล้เคียง นอกจากจะทำให้กระดูกเชิงกรานวางแนวไม่ได้ระดับแล้ว ยังทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ถ้าหยุดใส่ส้นสูงเมื่อไหร่ กระดูกเชิงกรานวางแนวอยู่ในระดับปกติ จะทำให้อาการปวดหลังหายไปเป็นปลิดทิ้ง
มีโอกาสติดเชื้อราน้อยลง
การใส่รองเท้าส้นสูงนาน ๆ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเชื้อรา เพราะรองเท้าหัวแหลม และรองเท้าส้นสูง จะทำให้เกิดแรงกดบริเวณปลายเท้าตลอดเวลาที่สวมใส่ โดยเฉพาะในบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า และนิ้วหัวแม่เท้าที่เบียดกันแน่นจนอับชื้น จึงมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อราได้ง่าย หรืออาจเป็นเล็บขบได้ หากเลิกใส่ส้นสูง ก็จะช่วยลดแรงกดบริเวณเล็บเท้า ที่เป็นสาเหตุของเล็บขบ และการติดเชื้อราลงได้
ลดโอกาสพิการ
การใส่ส้นสูงนานเกินไป ทำให้เกิดเป็นตาปลา และสภาพนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ จนอาจนำไปสู่ปัญหากระดูกเท้าผิดรูป หรือนิ้วงอผิดปกติ หลีกเลี่ยงได้ด้วยการใส่รองเท้าพื้นราบเก๋ ๆ แทน จะช่วยไม่ให้เท้าโดนบีบ หรือกดทับมากเกินไป
ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อหัวเข่า
อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ซึ่งผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงบ่อย ๆ มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้ มากกว่า ผู้ชายถึงสองเท่า โดยผลการศึกษาวิจัย พบว่า เมื่อเราหยุดใส่ส้นสูง จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับหัวเข่าลงได้ถึง 19-26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสูงของรองเท้าส้นสูงที่ใส่ด้วย ฉะนั้นจึงไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงทุกวัน หรือตลอดเวลา เลือกใส่ส้นสูงเฉพาะเวลาที่จำเป็น อาจมีการสลับใส่บางวันบางเวลา หรืออาจเลิกใส่ ซึ่งจะดีต่อสุขภาพเท้าของเราในอนาคต
ช่วยให้เดินสะดวกมากยิ่งขึ้น เดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครผู้หญิง จำนวน 9 ใน 10 คน ใส่รองเท้าส้นสูงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เป็นเวลาสองปี กับอาสาสมัครกลุ่มที่ไม่ได้ใส่ส้นสูงเป็นประจำ พบว่า ผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงในระยะยาวมีประสิทธิภาพในการเดินลดลง อันเป็นผลมาจากการวางเท้า และท่าทางในการเดินที่เปลี่ยนไป หากเลือกได้ ควรเลิกใส่ส้นสูง หรือเปลี่ยนมาใส่รองเท้าส้นแบนหรือรองเท้าผ้าใบบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการผิดปกติดังกล่าว
ลดโอกาสบาดเจ็บที่ข้อเท้า
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า คนที่ใส่ส้นสูงแล้วเกิดอาการบาดเจ็บ มักมีอายุต่ำกว่า 55 ปี โดยอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณข้อเท้า เนื่องจากการใส่ส้นสูงทำให้ข้อเท้าเกร็ง จึงมีโอกาสเกิดข้อเท้าแพลงได้ง่าย ถ้าหยุดใส่ส้นสูง หรือใส่ให้น้อยลง ผลการศึกษาวิจัย บอกว่าจะช่วยฟื้นฟูอาการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าลงได้
เลิกใส่ส้นสูง ต้องใช้เวลา ร่างกายต้องการเวลาปรับตัว
ถ้าตัดสินใจที่จะเลิกใส่ส้นสูงหลังจากใส่มาเป็นเวลานาน นักวิจัยเผยว่า ร่างกายอาจต้องการเวลาในการฟื้นฟูตัวเองเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล กว่าจะกลับสู่ในสภาพปกติได้ หมายความว่า เนื้อเยื่อจะเริ่มปรับตัวให้เหมาะสมกับท่าทางใหม่ เอ็นร้อยหวายจะยืดออก อาการปวดหลังช่วงล่างจะหายไป