ภาวะรังที่ว่างเปล่า Empty Nest Syndrome ความเหงาของพ่อแม่วัยกลางคน เมื่อลูกโตขึ้นและออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตนเอง
Empty Nest Syndrome ภาวะรังที่ว่างเปล่า มักเกิดในคู่สมรสวัยกลางคน เกิดจากการเปลี่ยนบทบาทของช่วงวัย ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด วัยกลางคนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องดูแลบุตรเช่นเดิม อาการที่พ่อแม่รู้สึกเหงา ว่างเปล่า โดดเดี่ยว วิตกกังวล เศร้า เสียใจ หรือ สูญเสีย เมื่อลูกโตขึ้น ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตนเอง
แม้ Empty Nest Syndrome จะไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางการแพทย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง ผู้ที่เผชิญกับภาวะนี้ มักรู้สึกโดดเดี่ยว ว่างเปล่า ขาดเป้าหมายในชีวิต วิตกกังวล ในช่วงแรกอาจรู้สึกเศร้าเพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาการอาจคงอยู่ตั้งแต่หลายสัปดาห์ จนกระทั่งเป็นปี แต่ส่วนใหญ่พบว่าผู้ที่เผชิญภาวะ Empty Nest Syndrome จะมีอาการอยู่ประมาณ 2-3 เดือน จึงจะปรับตัวให้เคยชินกับบ้านที่ว่างเปล่าได้ ซึ่งแต่ละครอบครัวอาจใช้เวลาแตกต่างกันไป แต่หากไม่สามารถข้ามผ่านความเครียด ความวิตกกังวลไปได้ อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า และ อาจไปถึงอาการของโรคที่ร้ายแรงที่สุดนั่นคือ การฆ่าตัวตาย
ภาวะ Empty Nest Syndrome แบ่งเป็น 3 ระดับ
จากหนังสือ Beyond the Mommy Years เขียนโดย คาริน รูเบนสไตน์ (Carin Rubenstein) แบ่งระดับขั้นของ Empty Nest Syndrome ไว้ 3 ระดับ คือ
1.โศกเศร้า เมื่อลูกออกไปใช้ชีวิตเอง อารมณ์แรกที่พ่อแม่ต้องเผชิญคือ ความรู้สึกโศกเศร้า สูญเสีย ความโศกเศร้านี้อาจทำให้พ่อแม่เก็บตัวออกห่างจากสังคม เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต
2.โล่งอก หลังจากหลายเดือนแห่งความโศกเศร้าผ่านไป เริ่มคุ้นเคยกับบ้านที่ว่างเปล่า พ่อแม่มักรู้สึกโล่งใจ เริ่มชื่นชอบอิสรภาพครั้งใหม่ที่ค้นพบ มีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และค้นพบว่าชีวิตก็ไม่ได้แย่อย่างที่เคยกังวล
3.สงบสุข เมื่อผ่านอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ได้สักระยะ พ่อแม่ที่เผชิญกับภาวะ Empty Nest Syndrome จะปรับตัวให้คุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวันใหม่ ๆ เข้าใจความเป็นไปของชีวิตมากขึ้น และจะพบกับความสงบสุข เมื่อสามารถค้นพบเป้าหมายใหม่ในชีวิตของตนเอง
วิธีรับมือภาวะ Empty Nest Syndrome
1.ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเปิดใจ รู้เท่าทันอารมณ์ว่าความเศร้าที่เกิดจากความไม่คุ้นเคยเมื่อลูกไม่อยู่ด้วย แต่เมื่อทุกอย่างผ่านไป เวลาจะช่วยเยียวยาความเหงาและเศร้าของพ่อแม่ได้
2.ปรับวิธีคิดใหม่ แม้ไม่ต้องคอยดูแลเลี้ยงดูลูกเหมือนเดิม แต่พ่อแม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ได้
3.ตั้งเป้าหมายใหม่ในชีวิต พ่อแม่อาจเริ่มต้นงานอดิเรกที่ตนเคยชอบอีกครั้ง หรือ บางสิ่งบางอย่างที่เคยคิดอยากทำแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ถือเป็นโอกาสที่จะได้ลงมือทำเพื่อเติมเต็มชีวิตชีวาและเพิ่มคุณค่าให้ตนเองอีกครั้ง
4.ดูแลร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้สดใสแข็งแรงสมวัย
5.เล่าสู่กันฟัง ความเศร้าทำให้พ่อแม่บางท่านเก็บตัว เก็บกดความรู้สึกไว้ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกเศร้า เหงา ว้าเหว่ ด้วยความไม่คุ้นเคยยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไป แต่หากมีการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูกทุกวันผ่านทางโทรศัพท์ วีดีโอคอล ด้วยความคิดถึง ห่วงใย จะช่วยลดช่องว่างความห่างไกลได้