เดจาวู เหมือนเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นไปแล้ว เดจาวู คืออะไรกันแน่! ไขความลับวิทยาศาสตร์ของระลึกพิศวง
“Déjà vu” หรือ เดจาวู เป็นภาษาฝรั่งเศส ที่ใช้อธิบาย เหตุการณ์ที่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เป็นคำที่มีการใช้ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง ลาเวอนีร์เดซีย็องส์ปซีชิก (L’Avenir des sciences psychiques) ของเอมีล บัวรัก (Emile Boirac)
เดจาวู ใช้อธิบายความรู้สึกแปลก ๆ บางอย่าง ที่รู้สึกได้ แม้ว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่น การได้เดินทางไปสถานที่ใหม่ ๆ พบเจอผู้คนใหม่ มีต้นไม้ อาคารเรียงราย แต่กลับรู้สึกว่าเคยเดินไปบนถนน เส้นทางที่มีอาคารที่ตั้งในรูปแบบนี้มาก่อนแล้ว
จากการสำรวจ พบว่า ผู้ที่มีสุขภาพดีประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เคยเกิดความรู้สึกแปลกประหลาดแบบเดจาวู โดยมักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงวัยที่มีอายุ 15-25 ปี และจะค่อย ๆ เกิดขึ้นน้อยลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการรับความรู้สึกผ่านภาพ อย่างเช่น รู้สึกเหมือนเคยเห็นสถานที่ที่เพิ่งไปเยือนครั้งแรกมาก่อน หรือรู้สึกคุ้นเคยเมื่อเห็นรูปสถานที่ สิ่งของ หรือคนที่ไม่รู้จัก เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นได้แม้เพียงได้ยินคำศัพท์ที่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร
เดจาวู เกิดจากอะไร ?
สาเหตุของปรากฏการณ์เดจาวูยังค่อนข้างเป็นปริศนา ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามอธิบายการเกิดปรากฏการณ์เดจาวูโดยอ้างอิงจากหลากหลายทฤษฎี ดังนี้
มีประสบการณ์ที่คล้ายกันมาก่อน
นักวิจัยบางคนเชื่อว่าการอยู่ในเหตุการณ์ หรือสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในอดีต เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเดจาวู อย่างเช่น อยู่ในบริเวณล็อบบี้โรงแรมที่มีรูปแบบการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งต่าง ๆ เหมือนห้องนั่งเล่นที่บ้านในวัยเด็ก เป็นต้น
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ทดลองให้อาสาสมัครดูรูปสถานที่ที่ตนเองไม่เคยมีอดีต หรือความทรงจำเกี่ยวข้องมาก่อน โดยเปรียบเทียบกับการให้ดูรูปสถานที่แบบเดียวกัน หรือคล้ายกับที่เคยเห็นมาก่อน ผลปรากฏว่า อาสาสมัครเกิดความรู้สึกเดจาวูกับรูปสถานที่ที่พวกเขาคุ้นเคย จึงเป็นไปได้ว่า ปรากฏการณ์เดจาวูนั้นมีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในอดีตที่คล้ายคลึงกัน
คุ้นเคยจากการเดินทางท่องเที่ยว
ผู้ที่ชื่นชอบการเดินทาง และเคยท่องเที่ยวในหลากหลายสถานที่ มีแนวโน้มจะเกิดความรู้สึกแบบเดจาวู มากกว่า ผู้ที่ชอบพักผ่อนอยู่กับบ้าน เนื่องจากได้พบเห็นสถานที่ และสิ่งต่าง ๆ มากมาย ซึ่งความทรงจำเหล่านี้จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับภาพสถานที่ที่เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกได้ง่าย
จดจำความฝัน
ผู้ที่จดจำความฝันของตนเองได้ดีอาจมีโอกาสเกิดเดจาวู ได้มากกว่า ผู้ที่ตื่นมาแล้วจำความฝันไม่ได้เลย ซึ่งอธิบายได้ด้วยหลักการเดียวกันกับการเดินทางไปตามสถานที่ที่หลากหลาย เพราะภาพในความฝันก็อาจเป็นความทรงจำที่ก่อให้เกิดความคุ้นเคยต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายเช่นกัน
สมองทำงานผิดปกติ
ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่า การทำงานของเซลล์ประสาทที่ขัดข้อง อาจกระตุ้นให้เกิดเดจาวูได้ โดยเกิดขึ้นเมื่อสมองไม่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างราบรื่น ทำให้จัดเรียงข้อมูลต่าง ๆ อย่างไม่เป็นระเบียบ พบว่า ผู้ป่วยบางคนที่มีอาการลมชักแบบเฉพาะที่บริเวณสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำระยะสั้น ก็เผชิญกับความรู้สึกแบบเดจาวูก่อนจะมีอาการชัก และยังพบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะภาวะสมองส่วนหน้าเสื่อม มักเกิดเดจาวูอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ปรากฏการณ์นี้อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง
การรับรู้แบบแยกส่วน
นักวิจัยได้ศึกษาไว้ว่าอาจเกิดจาก ทฤษฎีการรับรู้แบบแยกส่วน คือ สมองจะสร้างความจำของสิ่งที่เราได้เห็น ไม่ว่าจะเห็นแบบตั้งใจหรือว่าเห็นมาผ่าน ๆ แต่สมองกลับสร้างความทรงจำนั้นไว้อย่างชัดเจน ทำให้เราจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่เป็นส่วน แบบสมองแยกกันจำ ทำให้รู้สึกเหมือนเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ความทรงจำในอดีต
มีงานวิจัย พบว่า มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าเดจาวูเกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ที่เราเคยประสบมาก่อน แต่ไม่สามารถจำได้ อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถจำเหตุการณ์นั้นได้ แต่สมองเก็บความจำนั้นไว้ในส่วนลึก เมื่อเกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันนั้นทำให้สมองดึงความทรงจำส่วนนั้นกลับมา ทำให้เกิดเป็นเดจาวูขึ้น