“เงินน้อย เครียดมาก” ภาวะ Financial Insecurity เมื่อจำนวนเงินส่งผลต่อจิตใจ ไม่มีเงินแล้วหดหู่
ในทางจิตวิทยา จากคำอธิบายในบทความบนเว็บไซต์ฟอบส์ (Forbes) คำว่า ‘Financial Insecurity’ หรือ ‘ภาวะไม่มั่นคงทางการเงิน’ เป็นความรู้สึกทางจิตใจ อันมีผลมาจากจำนวนเงินในกระเป๋า ที่ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกเศร้าใจ หรือเครียดที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนได้ และพัฒนาต่อไปเป็นการสูญเสียความเคารพต่อตัวเอง ที่รู้สึกสิ้นหวังพ่ายแพ้จากความล้มเหลวด้านอาชีพ หรือการเงิน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนวัยเกษียณ ที่จะต้องพึ่งพาเงินจากคนรอบตัว เพราะไม่สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้เต็มที่จะมีอาการวิตกกังวล (Anxiety) เพิ่มขึ้นมากกว่าคนในวัยอื่น
ปัญหาเรื่องเงิน กับสุขภาพจิต
เรื่องเงินสามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ ตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เคยประสบเหล่านี้
- คุณจ่ายเงินเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น
- ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน จนทำให้ต้องหยุดทำงานหรือไม่สามารถทำงานได้ การหยุดงานจะกระทบกับรายได้ของคุณ
- คุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการพูดคุยทางโทรศัพท์ เวลาไปธนาคาร หรือกังวลตอนเปิดอ่านจดหมาย
- คุณรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำงานที่ไม่ชอบ เพราะภาระหนี้สิน
- คุณอาจหมดกำลังใจที่จะจัดการกับเรื่องเงิน
- คุณกังวลเวลาที่จ่ายเงินเพื่อชำระหนี้สิน ทั้ง ๆ ที่มีเงินมากพอที่จะจ่าย แต่ก็รู้สึกไม่สบายใจ
- การจัดการกับเรื่องหนี้สิน ทำให้คุณรู้สึกเครียด และกังวลเกี่ยวกับอนาคต
- คุณมีเงินไม่พอ ที่จะซื้อของที่จำเป็น หรือปัจจัย 4 เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือยารักษาโรค
- ปัญหาเรื่องเงินส่งผลต่อความสัมพันธ์ อย่างเช่น ยืมเงินจนเสียเพื่อน ซึ่งการมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตได้
งานวิจัยชี้ มีเงินมากขึ้น อาจไม่ทำให้มีความสุขมากขึ้น
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า แม้ว่าการมีรายได้ต่ำกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะทำให้มีความสุขได้ แต่เมื่อคุณมีรายได้ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 2,350,000 บาทต่อปี) หรือมีรายได้มากกว่านั้น อาจไม่ส่งผลต่อความสุขของคุณ
เพราะเหตุใด การมีรายได้มากกว่าประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี หรือเกือบ 2 แสนบาทต่อเดือน จึงไม่ส่งผลต่อการมีความสุข ผู้วิจัยได้อธิบายไว้ว่า การมีรายได้ครอบคลุมความต้องการพื้นฐาน อย่างเช่น อาหารและที่อยู่อาศัย รวมถึงความต้องการอื่น ๆ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุข
เรามักจะคิดว่า การมีรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้มีเวลามากขึ้น ซึ่งความจริงแล้วอาจตรงกันข้าม เพราะต้องทำงานหนักเพื่อให้มีรายได้มาก จึงทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย และมีแนวโน้มว่าจะกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ รวมถึงไม่ได้ออกกำลังกาย จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในที่สุด จึงเป็นเหตุผลที่บางครั้งการมีเงินมากขึ้น อาจไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ mind.org.uk ของสหราชอาณาจักร มีการนำเสนอว่าความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงินที่ส่งผลต่อจิตใจอย่างหนัก เกิดจากการที่คนคนหนึ่งถูก ‘ล่วงละเมิดทางการเงิน’ (Financial Abuse) ซึ่งหมายถึง การตกอยู่ในสถานการณ์ที่คนใกล้ชิดใช้เงินเป็นตัวควบคุมการกระทำของเรา หรือต้องพึ่งพาเงินจากใครบางคนเป็นเวลานาน จนวิถีชีวิตของเราขึ้นอยู่กับการสนับสนุนด้านการเงินจากคนผู้นั้นเป็นหลัก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยในความสัมพันธ์แบบครอบครัว หรือความสัมพันธ์แบบคนรัก ทำให้ผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดทางการเงินมีแนวโน้มที่จะรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงินได้มากกว่าปกติ เพราะพวกเขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เหมือนชีวิตขาดอิสรภาพไป
อาการ Financial Insecurity แก้ไขได้ด้วยการหันมา ควบคุมนิสัยการใช้จ่าย วางแผนการเงินให้รัดกุม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินไปมากจนรู้สึกไม่ปลอดภัย ร่วมกับการทำความเข้าใจต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนให้แยกขาดออกจากเรื่องเงิน โดยให้มองว่าเงินเป็นสิ่งควบคุมได้