Workaholic พฤติกรรมเสพติดการทำงาน ทุ่มเทกับการทำงานอย่างหนัก โดยไม่หยุดพัก
Workaholic คือ พฤติกรรมของคนที่มีนิสัยบ้างาน หรือ เสพติดการทำงาน แม้ Workaholic จะไม่ถูกจัดเป็นโรค หรือ ความผิดปกติทางจิตเวชโดยตรง แต่ลักษณะพฤติกรรมบ้างานอาจนับรวมในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) เพราะไม่สามารถหยุดความคิดและพฤติกรรมบางอย่างลงได้ จะมีพฤติกรรมการทำงานต่อเนื่องโดยไม่สามารถหยุดความคิด หยุดพักผ่อน มักคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลางาน ทุ่มเทกับงานแบบหามรุ่งหามค่ำ กดดันตัวเองอย่างหนัก ไม่ยอมพัก เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีเยี่ยม สมบูรณ์ที่สุด
สาเหตุของพฤติกรรม Workaholic
1.เกิดจากความต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
2.เกิดจากความต้องการหลีกหนีจากปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาการเงิน การหย่าร้าง การสูญเสียคนที่รัก
3.เกิดจากความต้องการหลีกหนีจากความรู้สึกไม่ดี เช่น ความรู้สึกผิด วิตกกังวล สิ้นหวัง ซึมเศร้า
4.สาเหตุจากเหตุการณ์ในวัยเด็ก การเลี้ยงดูจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ตั้งความหวังกับลูกไว้สูง ทำให้ลูกกลายเป็นคนที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) หรือ จากการสูญเสียคนในครอบครัวตั้งแต่เด็ก จึงต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้ ทำให้เคยชินกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา
อาการของพฤติกรรม Workaholic
1.คิดเรื่องงานตลอดเวลา หากไม่ได้ทำงานจะเกิดความเครียด และเมื่อมีเวลาว่างก็มักจะอยากทำงานเพิ่ม แม้ประสิทธิภาพกับผลลัพธ์ของงานจะเท่าเดิม หรือ อาจแย่ลง ก็ตาม
2.ใช้เวลาในการทำงานมากและเร่งรีบให้เสร็จ แม้จะไม่มีงานที่ต้องรีบทำ สามารถอดหลับอดนอนจนกว่าจะทำงานเสร็จ
3.ไม่พอใจเมื่อคนอื่นพูดถึงการทำงานของตัวเอง จะไม่รับฟังคำแนะนำของคนอื่นที่บอกให้ลดเวลาในการทำงานลง
4.กลัวความผิดพลาดในการทำงาน เพราะใช้ผลงานเป็นเครื่องวัดคุณค่าในตนเอง หากทำงานพลาดจะรู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง ไร้ความสามารถ ไม่มีคุณค่า
5.เกิดความเครียด ความวิตกกังวลมากเกินไป จนนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ซึ่งทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลังในการทำงาน หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ และเริ่มไม่พอใจในงานที่ทำ
6.เกิดความเครียดสะสม ปัญหาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ง่วงนอนตอนกลางวัน จนบางคนอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ หรือ สารเสพติด เพื่อระบายความเครียด
7.เกิดอาการเจ็บป่วยทางกาย ปวดหัว ปวดท้องบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ในระยะยาวอาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน
8.เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน คนรัก จากการทำงานหนัก ไม่สามารถจัดการเวลาในการใช้ร่วมกับคนอื่นได้ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ ความสัมพันธ์เกิดการห่างเหิน จนอาจถึงขั้นไม่ลงรอยกัน
คนที่เสพติดการทำงานจะแตกต่างจากคนทำงานหนักทั่วไป เพราะ Workaholic จะไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างเรื่องงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวได้ จะทำงานหนักโดยที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องทำ มักมีอารมณ์ทางลบ เช่น รู้สึกผิด รู้สึกวิตกกังวล แต่คนที่ทำงานหนักเพราะทุ่มเทให้กับการทำงาน จะรู้จักแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม มีความสุขกับงานที่ทำ สามารถแบ่งเวลาไปใช้ร่วมกับผู้อื่น กิจกรรมอย่างอื่นได้
วิธีการรับมือเมื่อมีพฤติกรรม Workaholic
1.กำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน ทั้งเวลาในการเริ่มงานและเวลาเลิกงาน เพราะการกำหนดเวลาจะช่วยให้สามารถทำงานเสร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดลำดับความสำคัญของงาน ให้ทำงานที่สำคัญและมีกำหนดส่งเร็วก่อน เมื่อถึงเวลาเลิกงานก็ให้วางมือจากงานที่ทำ ไม่นำงานกลับไปทำต่อที่บ้าน
2.ปรับนิสัยรักความสมบูรณ์แบบ ปรับความคิดใหม่เกี่ยวกับความผิดพลาดระหว่างการทำงาน เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครทำทุกอย่างสำเร็จโดยไม่เคยเกิดข้อผิดพลาด อย่ากล่าวโทษด้อยค่าตนเอง เมื่อเจอความผิดพลาดเพียงแค่แก้ไขปัญหา ใช้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไป
3.ให้เวลาตนเองได้หยุดพักบ้างระหว่างการทำงาน การทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความเครียด ตาล้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้หาช่วงพักเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 5 – 10 นาทีทุก 1 ชั่วโมง โดยมองออกไปนอกหน้าต่างชมวิวทิวทัศน์ ลุกออกจากโต๊ะทำงานเดินไปหาเครื่องดื่มที่ชอบ ซึ่งอาจช่วยให้คุณได้พักสายตาพร้อมกับยืดเส้นยืดสาย เมื่อกลับมาทำงานจะช่วยให้ทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.ให้เวลากับคนรอบข้าง ใช้เวลาหลังเลิกงานและวันหยุดสุดสัปดาห์ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง เช่น ทำอาหาร ทำสวน ออกกำลังกาย ไปทำกิจกรรมด้วยกันในวันหยุด จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
5.การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยเสริมสร้างให้มีพลังกาย พลังใจในการทำงานต่อไป โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายด้วยการทำสมาธิ เล่นโยคะ ทำกิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบ