รถสองคันกับคนเกษียณ
ใครว่าของเก่าเชยเมื่อมีของใหม่มาทดแทน อาจจะจริงบางส่วน ของเก่าบางชิ้นบางอันอาจมีค่า มีราคา เป็นสิ่งหายาก ที่อยู่ของเธออาจเป็นคฤหาสถ์ของมหาเศรษฐี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เช่น ภาพวาดของมหาศิลปิน เครื่องทองสำริดของคนโบราณ หรือแม้แต่สมุดเก่า ๆ ของกวีเอก และแม้กระทั่งหมวกใบขาดของบุคคลสำคัญ ฯลฯ
แต่เรื่องของเก่าเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากเล่านัก เรื่องที่จะเล่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนเราในปัจจุบันที่สักวันต้องแก่ตัวลงมากกว่า ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวเนื่องด้วยของเก่าอยู่สักหน่อย
เช้าวันจันทร์ วันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ผมเดินผ่านมุมหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ม.ใหม่) เห็นรถบัสเก่า ๆ สีหมอง ๆ คันหนึ่งจอดสงบนิ่งอยู่ข้างตึกเรียนดนตรี ข้างตัวรถแม้สีฟ้าจะจืดจางลงบ้าง แต่ยังมองเห็นตราและข้อความมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้อย่างชัดเจน พิศแล้วดูเหมือนมันกำลังครุ่นคิดถึงอดีตแห่งการทำงานอันยาวนาน นำครูอาจารย์ นิสิตนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า ไปไหนมาไหนตามแต่มือและเท้าพนักงานขับรถจะสั่งการมัน เมื่อถึงวันปลดเกษียณ ก็ถูกถอดออกจากระบบงานการจัดการศึกษาอันซับซ้อน และนับวันจะซับซ้อนยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
และตรงหน้ามัน ก็มีรถจอดเผชิญหน้าอยู่คันหนึ่ง เป็นรถปิกอัพสีขาวยี่ห้อยอดนิยม ติดตั้งหลังคาเอนกประสงค์ปิดกระบะไว้มิดชิด ฟิล์มสีดำทึมทึบทำให้ไม่อาจมองเห็นภายในได้เลย
ข้างถนนด้านตะวันออกที่รถทั้งสองคันจอดอยู่ ที่ระเบียงบนอาคารชั้นแรกเห็นชายหญิงคู่หนึ่ง คงเป็นอาจารย์หรือไม่ก็เจ้าหน้าที่ กำลังชี้ชวนกันดูรถสองคันดังกล่าว เห็นซุบซิบกันแล้วก็ยิ้ม หัวเราะเบา ๆ อย่างมีความสุข
ทำให้ผมต้องหันมามองรถสองคันนี้อีกครั้ง
วาบความคิดแรก เห็นภาพคนแก่กับเด็กหันหน้า จ้องตากัน ได้ยินคนแก่เล่านิทาน ต่อด้วยประสบการณ์การต่อสู้ชีวิตสารพัดเรื่อง เด็กน้อยจ้องตาแป๋ว นิ่งฟังอย่างกับคนกระหายน้ำมาเป็นวัน เรื่องราวอดีตที่เข้มข้น ชวนให้เด็กน้อยเคลิบเคลิ้ม จินตนาการสู่วันวานอย่างไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักแม้ความเหนื่อยอ่อน ผู้คนในอดีตน่าสนใจ ปัญหาอุปสรรคของผู้เฒ่าช่างท้าทายดีแท้ เย้ายวนใจให้เด็กน้อยอยากกระโจนลงไปสัมผัส หากมีโอกาส
อีกความคิดหนึ่งว่า สามีภรรยากำลังจ้องตากัน อย่างกับจะกินเลือดกินเนื้อ แล้วค่อย ๆ อ่อนโยนลง ด้วยภาพรักแรกผุดขึ้นทีละภาพ ๆ ภาพอดีตอันหอมหวานซาบซึ้งทรวงช่วยเปลี่ยนบรรยากาศให้ดีขึ้นทีละน้อย ขับไล่ความโกรธเคืองไปสิ้น และได้ยินทั้งสองกำลังเอ่ยถ้อยสุนทรขอโทษ และให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน
และแล้วภาพโฆษณาเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง ก็ลอยมาแทนที่ และได้ยิน "…หันหน้าเข้าหากัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทย…” จากปากเรียวแหลมของนักร้องเพลงเพื่อชีวิต(ขอใครของมัน) แผ่ว ๆ มากับหัวลมหนาวเดือนตุลาคม
ผมเดินผ่านรถทั้งสองคันช้า ๆ ออกมารับแสงแดดเช้า ๆ ตรงทางเดินรอบสวนหญ้าเขียวระหว่างตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์กับตึกราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ ทางเดินอิฐแท่งปูเป็นทางยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และแบ่งซอยเป็นล็อคย่อย ๆ อีก ยาวไปจนถึงตึกวิทยบริการ(หอสมุด) ล็อคแรกและล็อคต่อ ๆ ไปเป็นสนามหญ้าซึ่งสปริงเกอร์กำลังปล่อยฝอยน้ำพร่างพรมผืนสีเขียวอยู่ ดูเหมือนสวนผักของชาวสวนที่ไหนสักแห่ง ยกเว้นล็อคที่สองเป็นล็อคของบ่อบำบัดน้ำทิ้งที่น้ำพุทั้งสามกำลังพวยพุ่ง และเมื่อสิ้นแรงดันก็ตกลงบนแผ่นน้ำสีหมองเกิดเป็นคลื่นน้อยทยอยกระทบขอบบ่อ
ทางเดินดูเหมือนจะถามเท้าทั้งคู่ของผม
“คุณมาเดินที่นี่ทำไมหรือ”
ไม่รู้สิ ชีวิตครูบ้านนอกอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต หรือถ้าใช่ บทจบหลังปลดเกษียณอาจเป็นอย่างรถบัสเก่า ๆ สักคันหนึ่ง รอรถเด็ก ๆ สักคันมาจอดหันหน้าพูดคุย หากโชคร้ายกว่านั้น อาจเป็นพียงเเศษเหล็กกระจัดกระจายอยู่ตามร้านขายของเก่าของเมืองชนบทที่ไหนสักแห่ง
ในใจของผมตอบไปว่า
“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจเป็นเพราะที่นี่น่าเดินเล่นกว่าที่อื่น ในห้วงเวลาเช่นนี้ ครับผม”