ภาวะมีโซโฟเนีย โรคเกลียดเสียง รำคาญเสียงรอบข้าง
โรคเกลียดเสียง โรคไวต่อเสียงบางชนิด มีโซโฟเนีย (Misophonia) ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งมีเสียงเป็นสิ่งเร้า เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของหู หรือ การได้ยิน แต่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง อาการผิดปกติต่อการตอบสนองทางด้านอารมณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome) อาจได้รับการสืบทอดของภาวะนี้จากทางพันธุกรรมที่รับในครอบครัว
Dr.Sukhbinder Kumar นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ในคนที่มีภาวะเกลียดเสียงนั้น สมองส่วนอินซูล่าซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทสัมผัสกับอารมณ์ จะทำงานหนักกว่าคนทั่วไป ในขณะที่ได้ยินเสียง ส่งผลให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด หรือวิตกกังวล หัวใจเต้นเร็ว และเหงื่อออกได้มากขึ้น ความผิดปกตินี้มีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
จากสถิติพบว่า โรคเกลียดเสียงส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิง ตั้งแต่อายุ 9 – 13 ปี จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีอาการถี่ขึ้น จนเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เช็กภาวะมีโซโฟเนีย
- อารมณ์โกรธ เมื่อได้ยินเสียง
- พฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายวัตถุสิ่งของ
- แสดงวาจาหยาบคายกับผู้ที่ทำเสียงรบกวน
- ทำร้ายร่างกายตนเอง หรือผู้คนรอบข้าง
- หลีกหนีเสียงรบกวนอย่างรวดเร็ว จากบริเวณนั้น
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
- ความดันโลหิตสูง
การรักษา และ วิธีรับมือกับภาวะมีโซโฟเนีย
- บำบัดผู้ที่มีอาการโดยจิตแพทย์ ด้วยการให้ผู้ป่วยระบายความอึดอัดในใจ และอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงการกำเนิดของเสียง จากนั้นจึงค่อย ๆ ฝึกให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ร่วมกับเสียงกระตุ้นเหล่านั้นได้โดยไม่รู้สึกรำคาญ หรือผสมผสานการบำบัดด้วยเสียงโดยนักโสตสัมผัสวิทยา และการให้คำปรึกษาแบบประคับประคอง
- การปรับความรู้ความเข้าใจของพฤติกรรม (CBT) ที่สามารถบำบัดทัศนคติด้านความคิดเชิงลบต่อเสียงให้ดีขึ้น
- อบรมให้ทนต่อเสียงรอบข้างได้ดีขึ้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับภาวะหูอื้อ (TRT)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พกอุปกรณ์ป้องกันเสียง อย่างเช่นหูฟัง ที่อุดหู
- จัดการกับความเครียด
- การหลีกเลี่ยงเสียงรบกวน การอยู่ในพื้นที่เงียบสงบ หรือ จุดปลอดภัยในบ้านของคุณ โดยไม่มีใครส่งเสียงดังรบกวน
- เบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น อย่างเช่น การพูดคุยกับเพื่อน การอ่านหนังสือ