เมาภาพเคลื่อนไหว Motion Sickness เมารถ เมาเรือ เมาเกม
Motion Sickness คือ ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เกิดจากระบบการทรงตัวของร่างกาย และสมองไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เกิดขึ้นขณะเดินทางด้วยยานพาหนะต่าง ๆ หรือการเล่นเกม สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย บางคนเป็นน้อย บางคนเป็นหนัก หรือบางคนอาจไม่มีอาการเกิดขึ้นเลย
อาการ Motion Sickness
- รู้สึกไม่สบายท้องคลื่นไส้ อาเจียน
- เหงื่อออก
- เวียนศีรษะปวดศีรษะ
- เบื่ออาหาร
- ผิวซีด
- เหนื่อยล้า
- ปริมาณน้ำลายเพิ่มมากขึ้น
- มีอาการหายใจตื้น
- สูญเสียการทรงตัว
สาเหตุของ Motion Sickness
เมื่อใดที่สัญญาณจากดวงตา ไม่สัมพันธ์กับ สัญญาณที่เกี่ยวกับการทรงตัวจากหูชั้นใน ส่งผลให้สมองเกิดความสับสนในสัญญาณเหล่านี้ จนทำให้มีอาการเมาในที่สุด อาจเป็นผลมาจาก การนั่งรถยนต์ที่เหวี่ยงตัวนานเกินไป การนั่งเรือที่โคลงเคลงไปมาตามคลื่นน้ำ การโดยสารเครื่องบิน รวมถึงการเล่นเครื่องเล่นบางชนิด
คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้ได้ง่ายกว่าปกติ เด็กที่มีอายุ 2-12 ปี มีแนวโน้มในการเมารถมากที่สุด สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจากไมเกรน ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บที่สมอง
วิธีแก้ อาการ Motion Sickness
- สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เมื่อเริ่มรู้สึกวิงเวียน ให้สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ (ใช้ยาดมช่วยได้) จะช่วยให้รู้สึกสดชื่น คลายอาการวิงเวียนศีรษะ ลุกออกไปลมรับเย็น ๆ ยืดเส้นยืดสาย ยิ่งช่วยได้มาก หาผ้าเย็น ๆ มาเช็ดหน้า พยายามอย่ามองวัตถุ หรือสิ่งแวดล้อมภายในรถ เรือ หรือเครื่องบิน เพราะจะเกิดการสั่นไหวตามจังหวะของยานพาหนะ ทำให้รู้สึกคลื่นเหียนได้ง่ายขึ้น เน้นมองไปไกล ๆ มองไปยังจุดที่นิ่ง และอยู่ไกล เพื่อให้สมองมีจุดโฟกัสที่แน่นอน จะช่วยลดอาการลงไปได้
- พยายามตั้งศีรษะให้ตรง และนิ่งที่สุด เบื้องต้นลองทรงตัวให้ตรง ศีรษะไม่ควรไหวเอนไปมา พยายามนั่งบริเวณพื้นที่โดยสาร ที่สั่นน้อยที่สุด วิธีนี้จะทำให้ทั้งตาและหู รับรู้การเคลื่อนไหวของรถไปพร้อม ๆ กับอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน จึงมีโอกาสเมาน้อยกว่า และอย่าอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเล่นมือถือ เพราะจะยิ่งทำให้วิงเวียนแทน
- หาอะไรทาน อย่าปล่อยให้ปากว่าง ลองดื่มน้ำอัดลมแบบจิบ ๆ พอประมาณ จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ อาจเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือลูกอม รสขิง รสเปปเปอร์มินต์ ที่ทำให้รู้สึกกสดชื่น ปลอดโปร่ง
- กดจุดแก้เมา จุดแรก อยู่ห่างจากเส้นข้อมือลงมาประมาณ 2 นิ้ว เมื่อหาจุดเจอแล้ว ให้ใช้หัวแม่มือกดจุดทั้ง 2 ข้าง กดนิ่งไว้สักครู่หนึ่งจนรู้สึกดีขึ้น จุดที่ 2 อยู่บริเวณหลังมือ ตรงง่ามนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ โดยวิธีหาจุดง่าย ๆ คือให้คว่ำฝ่ามือลง นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ชิดติดกัน จะอยู่ตรงจุดสูงสุดของกล้ามเนื้อที่นูนขึ้นมาระหว่างนิ้วทั้งสอง ให้ใช้นิ้วหัวแม่มืออีกข้างหนึ่งกดไว้สักครู่ หรือกดจนกว่าอาการจะบรรเทาลง
- พักผ่อน อย่าฝืน หลับตาแล้วนอน ลองหลับตาลง เพื่อปิดสัญญาณภาพเข้าสมองเป็นการลดความสับสน ปล่อยให้สมองได้รับสัญญาณจากอวัยวะคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นในเพียงทางเดียว วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการได้ หรือเลือกนอนหลับพักผ่อนไปเลยก็ได้
- ไม่ควรเล่นเกม หรือเดินทางทันที หลังจากมื้ออาหาร เพราะจะเสี่ยงต่ออาการ Motion Sickness มากเป็นพิเศษ และในกรณีที่คนมีอาการมาก ๆ อาจทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้นด้วย
- อาจใช้ยาบางชนิดเพื่อบรรเทาอาการ อย่างเช่น ยาสโคโปลามีนในรูปแบบพลาสเตอร์ สำหรับแปะหลังใบหู ควรใช้ก่อนออกเดินทาง 4 ชั่วโมง ยาไดเมนไฮดริเนต ที่เป็นยาต้านฮิสตามีนชนิดหนึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้และแก้เมารถ ควรรับประทานก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที รวมถึง ยาไซไคลซีน ยาเมคลิซีน และยาโปรเมทาซีนด้วย ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพราะยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการง่วงซึม หรือปากแห้ง
การป้องกัน
- ควรเลือกที่นั่งบนรถยนต์ หรือ เรือให้เหมาะ อย่างเช่น ที่นั่งกลางตัวรถ ที่นั่งชั้นล่างสุด และที่นั่งแถวหน้า หรือเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะแทนการเป็นผู้โดยสาร หากโดยสารด้วยเครื่องบิน ควรจองที่นั่งบริเวณปีก หรือที่นั่งติดหน้าต่าง
- เปิดกระจก หรือ ช่องระบายอากาศ เพื่อให้ได้อากาศบริสุทธิ์ และให้อากาศถ่ายเท
- หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขณะเดินทาง
- สวมแว่นกันแดดก่อนการเดินทางทุกครั้ง
- รับประทานยาแก้เมารถก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาที
- พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ ปวดศีรษะ หรือวิตกกังวลอันนำไปสู่ภาวะเมารถ
- ไม่ปล่อยให้ท้องว่างทั้งก่อน และในระหว่างการเดินทาง โดยควรหลีกเลี่ยงของทอด หรืออาหารที่เป็นกรด