Rjukan หมู่บ้านกลางหุบเขาในนอร์เวย์ที่ไม่โดนแสงแดดถึงปีละ 6 เดือน
Rjukan หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาในนอร์เวย์เป็นสถานที่อันน่าทึ่ง นอกจากตั้งอยู่ในดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังถูกเงามืดทะมึนทาบทับในช่วงเวลากลางวันยาวนานถึง 6 เดือนต่อปี และนั่นคือที่มาของ Soispeilet กระจกยักษ์ 3 บานที่คอยสะท้อนแสงอาทิตย์ลงมาสาดส่องยังใจกลางหมู่บ้านในเดือนแห่งความมืดมัว
หมู่บ้าน Rjukan ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาขนาบข้างด้วยเขาสูงตั้งตระหง่าน ทำให้การคล้อยเวียนเปลี่ยนองศาในการส่องแสงไปทีละนิดของดวงอาทิตย์ในช่วงเดือนกันยน-มีนาคม ทำให้มีบางช่วงเวลาของวันที่แสงอาทิตย์ที่ควรจะส่องทอดลงมาจึงถูกเขาสูงใหญ่ทั้งสองด้านบดบังไว้ ในช่วงเดือนเหล่านี้แสงอาทิตย์จึงส่องลงมาได้สุดเพียงช่วงด้านบนของหุบเขา ปล่อยให้หมู่บ้านกลางหุบเขามืดสลัวอยู่ภายใต้เงายอดเขาที่บดบังแสงไว้ จนเกิดเป็นภาพชวนพิศวงยามมองจากภาคพื้นดิน ที่จะเห็นสิ่งรอบตัวมืดทะมึนไปหมด แต่ทุกสิ่งที่อยู่ถัดขึ้นไปบนเนินเขายังคงได้รับแสงสาดส่องสะท้อนสีใบไม้ใบหญ้าเขียวสดชื่น ขณะที่ผืนฟ้าก็ยังฟ้าสดใส
ชาวเมือง Rjukan ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงามืดในยามกลางวันปีละ 6 เดือนเช่นนี้มาเนิ่นนานจนกระทั่งปี 2013 เมื่อมีศิลปินนามว่า “Martin Andersen” ย้ายเข้ามาอาศัยที่นี่และพบว่าการต้องอยู่ในเงามืดคราวละครึ่งปีช่างชวนให้จิตใจหดหู่เหลือเกิน จึงเกิดไอเดียจะเอาแสงอาทิตย์ลงมายังหมู่บ้านให้ได้ เขาจึงคิดค้น “Solspeilet” ขึ้นมา มันเป็นกระจกยักษ์ 3 บานติดตั้งบนเนินเขาที่ความสูง 1,476 ฟุตเหนือหมู่บ้าน มีการตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมเอาไว้ให้มันปรับหันเอียงองศารับดวงอาทิตย์ทุกๆ 10 วินาที เพื่อสะท้อนลำแสงสว่างเรืองรองลงมายังลานจตุรัสใจกลางหมู่บ้าน
ที่จริงความคิดทำกระจกสะท้องแสงสว่างไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 100 ปีก่อนก็มีชาวบ้านนามว่า Sam Eyde เสนอไอเดียเดียวกันนี้ ทว่าในตอนนั้นยังขาดซึ่งเทคโนโลยีที่จะสร้างและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสร้างรถกระเช้าขึ้นมาแทน เพื่อนำคนในหมู่บ้านเดินทางขึ้นไปสูง 2,670 บนเนินเขาไปรับไอแดดและแสงอาทิตย์ที่สดใส เมื่อไม่สามารถนำแสงอาทิตย์ลงมาได้ จึงหาวิธีขึ้นไปหาแสงอาทิตย์แทนนั่นเอง โดยรถกระเช้าปีนเขานี้ในปัจจุบันก็ยังคงมีให้บริการอยู่
ส่วนกระจกยักษ์ Solspeilet นั้นในช่วงแรกเริ่มก็มีชาวบ้านหลายรายไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการติดตั้งกระจกสะท้อนแสงอาทิตย์บานยักษ์ที่ต้องใช้เงินสูงถึง 5,000,000 โครน เพื่อให้ได้แสงสว่างที่เพียงทอดฉายมาได้ยังบริเวณเล็กๆ เพียงจุดเดียว แต่หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาก็เปลี่ยนใจ เพราะแม้ว่าแสงที่ฉายลงมาจะเป็นเพียงลำแสงรำไรกินพื้นที่ไม่กว้างนัก แต่ความสวยแปลกตานี้เองก็ได้ดึงดูดผู้คนเข้ามาเที่ยวชม Rjukan จนหมู่บ้านกลางหุบเขาเล็กๆ แห่งนี้เป็นจุดท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของนอร์เวย์ไปในที่สุด
คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าในวันที่ Solspeilet สะท้อนแสงอาทิตย์ให้ส่องรำไรลงมา ทำให้หมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อว่า Rjukan เริ่มมีตัวตนขึ้นมาบนแผนที่โลก
อ้างอิงจาก: ที่มา: atlasobscura