ไม่กินข้าวมื้อเย็น ลดน้ำหนักได้จริงเหรอ ?
การไม่กินข้าวมื้อเย็นแทนการลดปริมาณข้าวเย็นลงนั้น ทำให้น้ำหนักลดได้จริง แต่เป็นการลดน้ำหนักที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่จัดเป็นการลดน้ำหนักที่ถาวร และเมื่อคุณไม่กินมื้อเย็นไประยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมากินมื้อเย็นอีกครั้ง คุณจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ หรือ ที่เรียกว่าการ YO – YO EFFECT
การไม่กินข้าวมื้อเย็นยังทำให้รูปร่างไม่สมส่วน โดยอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า เมื่อคุณไม่กินข้าวมื้อเย็น ร่างกายจะมีการลดลงของมวลกล้ามเนื้อเป็นอันดับแรก ซึ่งมวลกล้ามเนื้อนี้จะทำให้เกิดความไม่สมส่วนของรูปร่างได้ ดังนั้นการไม่กินข้าวมื้อเย็นจัดเป็นเคล็ดลับการลดน้ำหนักที่ทำให้เกิดความผอมเพียงชั่วขณะเท่านั้น
ไม่กินข้าวมื้อเย็น มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพดังนี้
1.ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แม้จะกินข้าวมื้อเช้า กับ มื้อกลางวัน ก็ตาม เพราะอาหารแต่ละมื้อจะถูกแปรรูปไปเป็นสารอาหารให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ แต่หากขาดอาหารไปสักหนึ่งมื้อ จะทำให้สารอาหารที่ได้รับมีปริมาณที่ไม่เพียงพอนำไปสู่การขาดสารอาหารได้
2.อาจเกิดโรคกระเพาะ การทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะเกิดจากการเรียนรู้ จดจำ การทำงานของระบบย่อยอาหารเองก็เช่นกัน เมื่อถึงเวลาอาหารเย็น ร่างกายจะเกิดกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับการย่อยอาหาร ด้วยการสร้างกรดเพื่อย่อยอาหารที่จะไหลมาจากหลอดอาหาร ในส่วนนี้หากไม่มีกินอาหารเข้าไป กรดที่กระเพาะสร้างมาก่อนหน้าจะทำลายผนังกระเพาะอาหารเอง
3.เกิดปัญหาต่าง ๆ ในช่องท้อง เช่น อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่สามารถเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เข้านอน แล้วนำไปสู่ปัญหาการนอนหลับยากร่วมด้วย
4.อาการอ่อนเพลีย เมื่อไม่กินข้าวมื้อเย็น ร่างกายจะขาดกลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ทำให้ร่างกายเกิดความกระปรี้กระเปร่า นำไปสู่ความอ่อนล้า อ่อนเพลีย หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือ อาการเป็นลม
5.ระบบขับถ่ายที่ไม่ปกติ บางคนอาจมีช่วงเวลาในการขับถ่ายเป็นประจำทุกเช้า แต่เมื่อใดก็ตามที่ไม่กินข้าวมื้อเย็น จะพบกับความไม่คล่องตัวที่เกิดขึ้นกับระบบขับถ่าย ทั้งการขับถ่ายไม่เป็นเวลา หรือ การขับถ่ายไม่ออก จนนำไปสู่อาการท้องผูก ซึ่งเป็นที่มาของโรคริดสีดวงทวาร
6.อาจเกิดอาการหงุดหงิด หรือ อาการผิดปกติของสภาพจิตใจ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายอื่น ๆ ตามมาได้
กินมื้อเย็นอย่างไรไม่อ้วน ?
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับกินมื้อเย็น คือ ก่อนเข้านอนอย่างน้อยกว่า 3-4 ชั่วโมง หรือ เป็นไปได้ ไม่ควรกินมื้อเย็นเกินเวลา 18.00–19.00 น.
- หลีกอาหารไขมันสูง อาหารย่อยยาก เช่น ของมัน ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง หรือ ของหวาน
- ให้กินอาหารที่ให้พลังงานต่ำ อาหารที่ย่อยง่าย เน้นกินโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ มีไขมันและแป้งบ้างเล็กน้อย
- ไม่แนะนำให้กินผัก หรือ ผลไม้ช่วงเย็น เพราะอาจทำให้ท้องอืด
- ก่อนกินอาหารให้ดื่มน้ำอย่างน้อยหนึ่งแก้ว ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง