การศึกษาล่าสุดพบว่า แมงกะพรุนไม่ได้ว่ายไปตามกระแสน้ำ แต่มันมีจุดที่ต้องการจะว่ายไป
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอลในวันนี้ (31 สิงหาคม 2567) ว่ามหาวิทยาลัยไฮฟาของอิสราเอล เปิดเผยผลการศึกษาทางทะเลฉบับใหม่ ซึ่งตั้งคำถามกับองค์ความรู้เดิมที่ว่าแมงกะพรุน เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ล่องลอยตามกระแสน้ำ และคลื่นของมหาสมุทรเท่านั้น โดยคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ค้นพบว่า แมงกะพรุนสามารถควบคุมทิศทาง และว่ายน้ำตามทิศทางเฉพาะอย่างน่าทึ่ง การติดตามแมงกะพรุนหลายพันตัวในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์จำแนกรูปแบบการว่ายแบบมีทิศทางชัดเจน สวนทางกับการเคลื่อนที่แบบสุ่ม ผลการศึกษาซึ่งได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารเคอร์เรนต์ ไบโอโลจี ระบุว่า แมงกะพรุนว่ายน้ำออกห่างจากชายฝั่งอย่างจริงจัง และสวนทางกับทิศทางของคลื่นความโน้มถ่วงพื้นผิว ซึ่งการเคลื่อนที่อย่างตั้งใจนี้ มีความเร็วราว 10 เซนติเมตรต่อวินาที ช่วยให้แมงกะพรุนอยู่ห่างจากชายฝั่งและเพิ่มโอกาสรอดชีวิต แม้รูปแบบการว่ายน้ำอาจหลากหลายตามสายพันธุ์ของแมงกะพรุน และสภาพแวดล้อมทางทะเล แต่การศึกษานี้ เน้นย้ำความสำคัญข องการควบคุมทิศทางเชิงรุกในหมู่แมงกะพรุน โดยน่านน้ำที่มีกระแสน้ำขึ้นน้ำลงแรง แมงกะพรุนอาจเลือกว่ายทวนกระแสน้ำ มากกว่าว่ายน้ำตามคลื่นเพื่อเลี่ยงการโดนซัดเข้าฝั่ง คณะนักวิจัยสำทับว่า ความเร็วและทิศทางสุดท้ายของการเคลื่อนที่ของแมงกะพรุน ได้รับอิทธิพลจากการว่ายน้ำของตัวมันเอง กอปรกับกระแสน้ำและคลื่นที่พัดผ่าน ซึ่งนี่หมายความว่าแมงกะพรุนจำนวนมากจะลงเอยด้วยการถูกพัดขึ้นบกและตายในท้ายที่สุด แม้พวกมันพยายามควบคุมทิศทางแล้วก็ตาม ทั้งนี้ การทำความเข้าใจรูปแบบการว่ายน้ำของแมงกะพรุน อาจมีนัยสำคัญต่อสิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่ง เช่น โรงไฟฟ้าและโรงแยกเกลือออกจากน้ำ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากปรากฏการณ์แมงกะพรุนเบ่งบาน (jellyfish bloom) โดยการคาดการณ์การมาถึงของแมงกะพรุนได้ อาจช่วยให้สถานที่เหล่านี้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบนั่นเอง