ภาวะปากแห้ง
ภาวะปากแห้ง (Dry Mouth) อาการของภาวะนี้ ได้แก่ มีความรู้สึกแห้ง เหนียว ๆ แสบร้อน เสียวแปลบในปาก เคี้ยวหรือ กลืนอาหารได้ลำบาก โดยเฉพาะอาหารแห้ง มีการรับรู้รสชาติเปลี่ยนไป ลิ้นแห้ง ฟันโยก ผู้มีอาการปากแห้งมักอธิบายว่าผิวในช่องปาก “แห้งเหมือนกระดาษทราย” หรือ “แห้งเหมือนทะเลทราย” หิวน้ำบ่อย ๆ มีความรู้สึกเจ็บภายในปาก มีความรู้สึกเจ็บบริเวณมุมปาก หรือมุมปากมีอาการผิวแตก รวมทั้งริมฝีปากมีอาการแห้งแตก มีความรู้สึกคอแห้ง มีความรู้สึกแสบร้อนภายในปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณลิ้น ลิ้นมีอาการแห้ง และแดง มีปัญหาในการพูด รวมทั้งในการรับรส การเคี้ยว และการกลืนอาหารด้วย มีอาการแสบคอ เจ็บคอ จมูกแห้ง และมีกลิ่นปาก
พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุราว 1 ใน 5 มีภาวะปากแห้ง
และพบใน ผู้หญิงมากกว่า ผู้ชาย
สาเหตุของอาการปากแห้ง
- ปัญหาทางด้านสุขภาพ อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ อย่างเช่นโรคเบาหวาน เส้นเลือดในสมองแตก การติดเชื้อราในช่องปาก โรคอัลไซเมอร์ โรคที่เป็นผลมาจากการแพ้ภูมิตัวเอง อย่างเช่น โรคในกลุ่มอาการโจเกร็น (Sjogren’s syndrome) โรคเอดส์ นอกจากนี้การนอนกรน และการหายใจทางปาก ก็อาจทำให้เกิดอาการปากแห้งได้
- การใช้ยา ยาที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหา ได้แก่ ยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูก ยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ยาลดความดันเลือด ยาแก้ซึมเศร้า ยาลดอาการวิตกกังวล และยาขับปัสสาวะ
- เส้นประสาทได้รับความเสียหาย อุบัติเหตุ หรือ ศัลยกรรมที่ทำให้เส้นประสาทบริเวณศีรษะ และคอเกิดความเสียหาย อาจส่งผลให้เกิดอาการปากแห้งได้
- สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน ทำให้มีอาการปากแห้งเพิ่มขึ้นได้
- อายุมากขึ้น ผู้สูงวัยมักจะมีอาการปากแห้งเมื่อมีอายุมากขึ้น ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น การใช้ยาบางชนิด ความสามารถในการดูดซึมยาลดลง ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และมีปัญหาด้านสุขภาพเป็นเวลานาน
- ยาเคมีบำบัดโรคมะเร็ง ยาเคมีบำบัดอาจทำให้ธรรมชาติของน้ำลายเปลี่ยนไป รวมทั้งทำให้การผลิตน้ำลายลดลงด้วย อาการเช่นนี้อาจเป็นอาการเพียงชั่วคราว เมื่อใช้ยาเคมีบำบัดเสร็จสิ้นแล้ว น้ำลายก็จะกลับมาทำหน้าที่ตามปกติ นอกจากนี้การฉายรังสีบริเวณศีรษะ และคอ ก็อาจทำให้ต่อมน้ำลายเกิดความเสียหาย เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำลายได้น้อยลง อาการนี้อาจเป็นอาการเพียงชั่วคราว หรือถาวรก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี และบริเวณที่มีการฉายรังสี
วิธีป้องกันปากแห้ง และ การดูแลตัวเอง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อยควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้ว
- หมั่นจิบน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่ปราศจากน้ำตาล เพื่อให้ปากชุ่มชื้นอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีรสชาติเผ็ด และเค็มจัด เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในปาก
- เคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมที่ปราศจากน้ำตาล สามารถช่วยป้องกันปากแห้งได้ เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายออกมาได้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และงดการสูบบุหรี่
- ในกรณีที่ปากแห้งมาก สามารถซื้อน้ำลายเทียมมาใช้ได้ แต่ควรทำตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรซื้อยาแก้แพ้ หรือยาลดน้ำมูกมารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ร่วมด้วย
- ผู้ที่มักหายใจทางปากควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และฝึกหายใจทางจมูกบ่อย ๆ แทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปากแห้งได้ง่าย
- ติดตั้งเครื่องทำไอน้ำไว้ในห้อง เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศขณะที่นอนหลับ
- หมั่นไปพบทันตแพทย์ เพื่อรับการตรวจสุขภาพในช่องปากและฟันทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเลียปากบ่อย ๆ เพราะน้ำลายจะดูดเอาความชุ่มชื้นออกจากปาก ทำให้ปากแห้ง แตก และดำคล้ำง่าย
- ควรเลือกใช้ลิปสติกที่มีมอยส์เจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น หรือบำรุงผิวริมฝีปากไปพร้อม ๆ กัน และควรเลือกใช้ลิปสติกที่มีส่วนผสมของสารกันแดด เพราะแสงแดดจะทำลายผิวริมฝีปากให้หมองคล้ำ และทำให้ปากแห้งได้
- หลีกเลี่ยงการสครับผิวริมฝีปากบ่อย ๆ เพราะการสครับจะยิ่งทำให้อาการปากแห้งรุนแรงขึ้น