ฉลามกรีนแลนด์ ฉลามที่มีอายุยืนที่สุดในโลก
ฉลามกรีนแลนด์ (Somniosus microcephalus) หรือที่รู้จักกันในชื่อฉลามกูรีหรือฉลามเทา เป็นฉลามที่อยู่ในวงศ์ฉลามสลีปเปอร์ (Somniosidae) ฉลามกรีนแลนด์มีอายุขัยยาวนานที่สุดในบรรดาสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยคาดว่ามีอายุราว ๆ 250 ถึง 500 ปี จากการตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีจากโปรตีนในดวงตาของมัน ฉลามกรีนแลนด์ เป็นฉลามสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดสายพันธุ์หนึ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ โดยมีความยาวสูงสุดที่ได้รับการยืนยันคือ 6.4 เมตร (21 ฟุต) และมีน้ำหนักมากกว่า 1,000 กิโลกรัม (2,200 ปอนด์) ฉลามกรีนแลนด์จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 150 ปี และลูกฉลามจะเกิดมามีชีวิตหลังจากตั้งครรภ์ประมาณ 8 ถึง 18 ปี
สาเหตุที่ฉลามกรีนแลนด์มีอายุไขที่ยาวนาน
คำอธิบายที่เป็นไปได้ประการหนึ่งสำหรับอายุขัยของฉลามก็คือ ฉลามเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ที่ความลึก 2,000 เมตร ซึ่งอุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ 29 องศาฟาเรนไฮต์ ความหนาวเย็นจัดมักส่งผลต่อการเผาผลาญและการเจริญเติบโตที่ช้า โดยฉลามกรีนแลนด์จะโตเต็มวัยเมื่ออายุ 150 ปี
จอห์น สเตฟเฟนเซน ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เคยให้ข้อมูลไว้ว่า หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญในการที่ฉลามกรีนแลนด์มีชีวิตที่ยืนยาวขนาดนั้นก็เพราะว่า มันอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิที่ต่ำมาก ๆ โดยอยู่รหว่าง -1.8 องศา ถึง 7.5 องศา ซึ่งต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ โดยอุณหภูมิในร่างกายของฉลามกรีนแลนด์จะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ที่มันอาศัยอยู่ เมื่อลึกลงไปใต้แผ่นน้ำแข็งไม่กี่ร้อยเมตร ร่างกายของฉลามกรีนแลนด์จะเย็นลงถึง -1.8 องศา ซึ่งเป็นจุดเยือกแข็งของน้ำทะเล ซึ่งมันต่ำจนการเผาผลาญ หรือปฏิกิริยาทางชีวภาพและเคมีทั้งหมดในร่างกายของฉลามทำงานช้าลง
อีกหนึ่งสาเหตุ คือ ฉลามกรีนแลนด์อาศัยอยู่ในมหาสมุทรอันมืดมิด และลึกล้ำ ซึ่งอยู่ในที่ที่มนุษย์เข้าถึงยาก และฉลามมีนักล่าตามธรรมชาติเพียงไม่กี่อย่างนอกจากมนุษย์ ดังนั้นมันจึงมีอายุไขที่ยืนนานมาก ๆ ฮอลลี่ ชีลส์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักรกล่าว ซึ่งในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เธอยังศึกษาการเผาผลาญของกล้ามเนื้อและสรีรวิทยาของหัวใจฉลามและพบว่าสัตวชนิดนี้เคลื่อนที่ช้ามาก ๆ อีกด้วย