แพ้เหงื่อตัวเอง
โรคแพ้เหงื่อตัวเอง หรือ โรคผื่นคันจากเหงื่อ (Cholinergic Urticaria หรือ Heat Hives) คือ โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง แสดงอาการออกมาในรูปแบบผื่นคัน ตุ่มใส ลมพิษขึ้นบริเวณใบหน้า ลำคอ ข้อพับต่าง ๆ บริเวณที่เหงื่อออก และ อับชื้น อาการแพ้เหงื่อพบได้น้อยมาก มีความใกล้เคียงกับอาการทางผิวหนังอื่น ๆ ที่เกิดจากความร้อน เช่น ผื่นคัน ผดร้อน เป็นต้น ในบางรายอาจมีลมพิษเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบ ร่วมด้วย
โรคแพ้เหงื่อมักเกิดกับผู้ที่มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นเร้าจากสภาพแวดล้อมสูง โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- ผื่นคันบริเวณที่มีเหงื่อ อาการผื่นคันบริเวณที่มีเหงื่อมักพบได้ในผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นคัน หรือ คันตามบริเวณที่มีเหงื่อมาก เช่น ข้อพับ ซอกคอ ลำตัว ส่วนใหญ่ผื่นชนิดนี้จะหายเองได้ภายใน 30 นาที
- ผื่นลมพิษที่เกิดจากการกระตุ้นของเหงื่อ เป็นภาวะแพ้เหงื่อตัวเองโดยตรง สาเหตุจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังต่อการสัมผัสกับเหงื่อ ทำให้มีจุดนูนแดงขึ้นตามร่ากาย ก่อนจะขยายวงเป็นปื้นนูนแดงคันซึ่งเป็นลักษณะของลมพิษ ความรุนแรงของผื่นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน
สาเหตุเกิดจาก
โรคแพ้เหงื่อตัวเองเกิดจาก “ความร้อน” เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จะขับเหงื่อออกมาเพื่อช่วยระบายความร้อน เมื่อเหงื่อผสมกับแบคทีเรียบนผิวหนังจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการผื่นแดง คัน หรือลมพิษ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เหงื่อ ได้แก่
- การสวมเสื้อผ้ารัดแน่น หรือ เสื้อผ้าที่ระบายอากาศไม่ดี
- การออกกำลังกายหนัก ๆ ทำให้มีเหงื่อออกมามาก
- อากาศร้อน หรือ มีความชื้นในอากาศ มากจนเกินไป
- การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ
- การกินยาบางชนิด เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
- ความเครียด
- โรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด
อาการ
- มีผื่นแดงคันมากขึ้นในช่วงที่เหงื่อออก เช่น ใบหน้า ลำคอ หน้าอก แผ่นหลัง แขน ขา รักแร้ ขาหนีบ ขอพับต่าง ๆ ของร่างกาย
- ตุ่มใส คัน คล้ายอาการอีสุกอีใส
- ลมพิษ บวมแดง คัน เป็นปื้นนูนแดง วงกลมหนานูน
- อาการคล้ายมีไข้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ทั่วท้อง และ ความดันโลหิตต่ำ
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการแพ้เหงื่อ
1.ไม่ปล่อยให้มีเหงื่ออยู่บนผิวหนังเป็นระยะเวลานาน
2.อาบน้ำชำระสิ่งสกปรกวันละ 2 ครั้ง ทุกเช้า และ ก่อนนอน
3.เช็ดผิวหนังให้แห้งหลังอาบน้ำ
4.หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น สภาวะอากาศร้อน
5.สวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อผ้าสามารถระบายอากาศได้ดี
6.การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาวะการแพ้ของตัวเอง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางมีส่วนช่วยลดการเกิดเหงื่อ เลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดเหงื่อ ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (Alcohol)
7.หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะทำให้ร่างกายเกิดความร้อน เป็นที่มาของเหงื่อ และ การแพ้
8.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะมีส่วนเร่งให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้เช่นกัน
9.ลดการอาบน้ำอุ่น สครับผิว และ ซาวน่า เพราะทำให้ผิวแห้ง และ ไวต่อการระคายเคืองมากขึ้น
10.ประคบเย็นบริเวณที่มีผื่นคัน
11.รับประทานยาแก้แพ้ เช่น เซทิริซีน (Zyrtec, Reactine, Alerid) ไดเฟนไฮดรามีน (Benadryl, Nytol, Sleep-Eze)
12.ใช้เจลว่านหางจระเข้ทาผิวบริเวณที่มีผื่นคัน
13.ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือดื่มน้ำประมาณ 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน
14.ออกกำลังกายในสถานที่ที่อากาศเย็นสบาย หรือ ออกกำลังกายเบา ๆ ตอนเช้าตรู่ และ ตอนเย็น