เทคนิคการเขียนและแต่งนิยายนักสืบ บทที่ 1 นิยายนักสืบคดีฆาตกรมปริศนาคืออะไร
ก่อนอื่นก็ขอสารภาพก่อนว่าบทความ เทคนิคการเขียนและแต่งนิยายเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ ที่เขียนมาถึง 4 บทนั้นมาถึงทางตันเรียบร้อย ก็เพราะตัวของผู้เขียนไม่ใช่คนที่จะมาสอนหรือบอกใครได้ เพราะเอาจริงๆ ผู้เขียนก็มีแนวถนัดของตัวเองอยู่แล้ว นั่นคือแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนาหรือแนวนักสืบแบบพวกโคนันคินดะอิจิอะไรแบบนั้น พอมานั่งคิดนอนคิดกับตัวเองแทนที่เราจะสอนจะบอกเรื่องที่เราเองก็ไม่ค่อนถนัด สู้เอาเรื่องที่ตัวถนัดมาบอกจะดีกว่าไหม ว่าแล้วก็เปลี่ยนแนวมาเขียนเรื่องนี้แทนนั่นคือ เทคนิคการเขียนและแต่งนิยายนักสืบ เพื่อว่าใครที่อยากจะเขียนนิยายนักสืบคดีฆาตกรรมปริศนาจะได้แบบนี้จะได้มีแนวทางเขียนว่าจะต้องทำยังไง และเพื่อไม่ให้เสียเวลาเรามาเริ่มที่บทที่ 1 กันก่อนกับสิ่งที่เรียกว่า นิยายนักสืบคดีฆาตกรมปริศนาคืออะไร เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นตั้งแต่แรกกัน
เมื่อพูดถึงนิยายนักสืบหรือนิยายแนวสืบสวน เชื่อว่าหลายคนก็คงจะคิดถึงนิยายแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่ตัวละครก็จะค่อยๆ ตามสืบเรื่องรางเงื่อนงำไปเรื่อยๆ หรืออาจจะเป็นแบบนักสืบที่มีคนมาจ้างสืบคดีต่างๆ แบบ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ นั่นก็จัดเป็นแนวสืบสวนเหมือนกัน หรือถ้าจะให้แบบเห็นภาพง่ายกว่านี้ก็ซีรีส์ CSI หรือภาพยนตร์แนวอาญากรรมนั่นก็จัดเป็นแนวสืบสวน แต่แนวที่ผมเขียนนั้นจะถูกเรียกว่า แนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนา ซึ่งมันจะต่างกับแนวสืบสวนนักสืบไปอีกแบบ ที่ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ ยอดนักสืยจิ๋วโคนัน ไม่ก็ คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา นั่นคือ แนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนา ซึ่ง ย้งยี้สาวน้อยยอดนักสืบ ที่ผมแต่งก็อยู่ในหมวดหมู่นั้น และถ้าถามว่าทำไมผมเลือกเขียนแนวนี้ สั้นๆ ก็คือมันไม่มีใครเขียน โดยเฉพาะในบ้านเราผู้เขียนกล้าพูดเลยว่าไม่มีนิยายแนวนี้ในบ้านเราเลย มีแค่นิยายของผู้เขียนคนเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมไม่มีคนเขียนแนวนี้ก็ไม่รู้
โดยนิยายแนวแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนานั้น จะมีองค์ประกอบใหญ่ๆ อยู่ ก็คือตัวนักสืบที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง ตัวคดีฆาตกรรมที่เป็นปริศนาที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ปมความเชื่อมโยงของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ และทริกปริศนาที่ดูเหมือนลึกลับแต่ความจริงแล้วมันสามารถทำได้จริงๆ นั่นคือหัวใจหลักของนิยายแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนา ซึ่งถ้าคุณอาจจะเขียนนิยายแนวนี้สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือการอ่านการ์ตูนนิยายแนวนี้เยอะๆ และไม่ใช่แค่อ่านผ่านๆ แต่ต้องอ่านและเข้าใจมันให้ถ่องแท้ว่าคนร้ายเริ่มต้นตรงไหนทำอย่างไรจนจบคดี โดยในรอบแรกเราจะอ่านในฐานะนักสืบกับคนที่อยู่ในเหตุการฆาตกรรมนั้นๆ แต่เมื่ออ่านรอบสองเราจะอ่านในฐานะของคนร้ายที่เตรียมแผนการทุกอย่างมาอย่างดีก่อนลงมือ ซึ่งนั่นจะทำให้เราเห็นมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิมในการอ่านทั้งสองครั้ง ซึ่งผู้เขียนก็ทำแบบนี้มาตลอด จนสามารถสร้างทริกปริศนาของตัวเองขึ้นมาได้มากมาย และการอ่านเยอะๆ ยังมีข้อดีตรงที่เราจรู้ว่ามุกนี้เคยมีแล้วจะไม่ทำซ้ำ เพราะคนที่ซื้อหรืออ่านนิยายเราคือคนที่ชอบแนวสืบสวน เขาจะรู้ทันทีว่ามุกนี้ซ้ำเคยมีในการ์ตูนตอนนี้เรื่องนี้แล้ว ดังนั้นการอ่านเยอะๆ ก็ช่วยเราตรงนี้ด้วย
และถ้าถามว่าควรอ่านนิยายหรือการ์ตูนเรื่องไหนดี เรื่องนี้หลายคนน่าจะรู้แล้วว่าผู้เขียนจะแนะนำการ์ตูนเรื่องอะไร นั่นคือ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน กับ คินดะอิจิกับคดีฆาตกรมปริศนา ซึ่งถ้าจะให้ดีแนะนำให้อ่านฉบับหนังสือการ์ตูนจะดีกว่าไปดูฉบับการ์ตูนทีวี เพราะมันจะให้รายละเอียดเยอะกว่าแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม ส่วนนิยายก็ไม่ต้องคิดเยอะ นิยาย ย้งยี้สาวน้อยยอดนักสืบ ของผู้เขียนเองที่พออ่านจบคุณจะรู้ว่าผู้เขียนนั้นตั้งใจกับแนวนิยายเรื่องนี้ขนาดไหน และต่อไปจากนี้ที่ก็ไม่รู้ว่าจะมีกี่บท แต่ผู้เขียนจะมาอธิบายนิยายแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนาที่ว่ามันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนจะมาบอกเทคนิคทุกอย่างแบบหมดเปลือกไม่มีกั๊กไม่หวงวิชา เพราะผู้เขียนก็อยากอ่านนิยายแนวนี้ของคนอื่นบ้าง และหวังว่าเนื้อหาในบทต่อไปจากนี้จะช่วยให้มีนักเขียนนิยายแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนาเกิดขึ้นมาในบ้านเรา ผู้เขียนก็ยินดีมากๆ ส่วนบทที่ 2 จะมาตอนไหนถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะมาลงบ่อยๆ รับรองไม่เทกลางทางแน่นอน
















