โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง หรือ โรค BDD
โรค BDD (Body Dysmorphic Disorder) ในภาษาไทยเรียกได้หลายชื่อ โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง , โรคคิดหมกมุ่นกับรูปร่างหน้าตาตัวเอง , โรคคิดหมกมุ่น ,โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ
คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่น ไม่พึงพอใจในรูปร่าง และ หน้าตา ของตนเอง ทั้งที่ความเป็นจริงรูปร่างหน้าตาก็ดูปกติ หรือ ใกล้เคียงปกติ
จัดอยู่ในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ คือ มีอาการคิดซ้ำ ๆ ไม่พอใจ เปรียบเทียบกับผู้อื่น และ มีพฤติกรรมทำซ้ำ เช่น ส่องกระจกบ่อย ๆ ถามผู้อื่นซ้ำ ๆ ด้วยความกังวล เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน (โดยเฉลี่ย 3-8 ชั่วโมงต่อวัน) ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และ ถ้าเป็นมากจนมีโรคซึมเศร้าแทรกซ้อน อาจถึงกับฆ่าตัวตายได้
กรมสุขภาพจิตพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรค BDD มากขึ้น โดยมีการเข้ารักษาแล้วเดือนละกว่า 10 คน การคาดหวังว่าตัวเองจะต้องดูดีตามกระแส เมื่อผิดหวัง ผู้ป่วยก็จะยิ่งเครียด คิดหมกมุ่น กว่า 70% มีภาวะเครียดรุนแรง มีการทำร้ายตัวเอง 20%
อาการหมกหมุ่นกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองจะพบมากในคนโสดอายุ 15-30 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และ มีแนวโน้มว่าผู้ชายจะมีเปอร์เซ็นที่เพิ่มสูงขึ้น
อาการของผู้ป่วยโรค BDD
1.หมกมุ่นเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาตัวเองทั้งวันไม่เป็นอันทำอะไร
2.กังวลว่าคนอื่นจะเห็นความผิดปกติในร่างกายของตัวเอง จะพยายามปกปิดส่วนนั้น
3.มีความคิดอยากแก้ไขส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีความคิดวนเวียนเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขร่างกายส่วนที่ไม่มั่นใจ
4.ส่องกระจกทั้งวัน เป็นอาการย้ำคิดย้ำทำ มีความคิดวนซ้ำไปมาว่าตัวเองดูดีหรือไม่ ? มักสอบถามคนรอบข้างเรื่องรูปร่างหน้าตาของตัวเอง หรือ บางคนจะไม่ยอมส่องกระจกเลย เพราะไม่ต้องการเห็นความผิดปกติของร่างกายในส่วนนั้น
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรค BDD
1.พื้นฐานจิตใจของผู้ป่วยที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
2.ค่านิยมของครอบครัว สังคม อิทธิพลมากจากคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย ต่อเรื่องรูปร่าง ความสวยงาม
3.สิ่งแวดล้อม และ ปัจจัยกระตุ้นที่มาจากภายนอก เช่น การเสพสื่อต่าง ๆ
4.การถูกล้อเลียน การถูกรังแก การถูกด่าว่า เรื่องรูปร่างหน้าตา
5.ความผิดปกติในฮอร์โมน มักจะเกิดจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น ภาวะที่ร่างกายมีเซโรโทนิน (Serotonin) สารเคมีที่ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และ อารมณ์ต่ำเกินไป ทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่พอใจในตัวเอง ไม่มีสมาธิ นำไปสู่โรคไม่พอใจ รูปร่าง หน้าตา ของตัวเองได้
6.เคยเป็นโรคผิวหนัง หรือ โรคทางกาย ทำให้เกิดความอาย เช่น การเป็นสิวตอนวัยรุ่น ส่งผลให้เกิดบาดแผลในใจ
7.กรรมพันธุ์ หรือ คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน
วิธีการดูแลเมื่อพบว่าอาจจะเกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรค BDD
1.ฝึกชื่นชมตัวเองวันละ 1 เรื่อง เกี่ยวกับข้อดีที่ไม่ใช่เรื่องรูปร่างหน้าตา เช่น วันนี้ได้ช่วยเหลือผู้อื่นเรื่องใดบ้าง ทำงานได้ตรงตามเป้าหมาย ทำอาหารกินเองได้อร่อยมาก
2.รู้เท่าทันความคิดของตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่พอใจในร่างกายส่วนใดให้ปล่อยวาง เบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอย่างอื่น หางานอดิเรกทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ ปลูกต้นไม้
3.ฝึกยอมรับความผิดพลาด ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบที่มีกันทุกคน
4.ออกกำลังกาย ดูแลรูปร่าง ผิวพรรณของให้ดูดีขึ้นได้ตามความเหมาะสมกับตัวเอง เปลี่ยนมุมมองว่าความงามของร่างกายไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เป็นในแบบตัวเอง รักตัวเอง ควบคุมน้ำหนักให้สมดุลกับรูปร่าง ทาครีมบำรุงผิว และการปรับมุมมองว่าการมีจุดบกพร่องไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ ถ้าแก้ไขได้ก็ทำ แต่ ถ้าจะปล่อยไว้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่
5.ฝึกชื่นชมข้อดี หรือ การกระทำดีของคนอื่นออกมาวันละ1 เรื่อง เพื่อปรับความคิดให้มองคนอื่นที่ปัจจัยต่าง ๆ นอกจากรูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียว การมีนิสัยดี มีมารยาท ร่างกายเสื้อผ้าสะอาดสะอ้าน แม้หน้าตาจะธรรมดาก็ช่วยเสริมส่งให้คนนั้นดูดีขึ้นได้