ผมร่วง สาเหตุ และวิธีการดูแลรักษา
ผมร่วง (Hair Loss) หมายถึง การสูญเสียเส้นผมบนศีรษะ หรือกับทุกส่วนในร่างกาย ลักษณะความรุนแรงอาจแตกต่างกัน หากสังเกตเห็นผมจำนวนมากในท่อระบายน้ำหลังจากสระผม จับเป็นก้อนผมในแปรง บนหมอน เริ่มสังเกตเห็นผมบางหรือศีรษะล้านเป็นหย่อม ๆ แสดงว่ามีผมร่วงมากกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
เรามีเส้นผมบนศีรษะมากถึง 100,000 เส้น ในแต่ละวันผมของคนเราจะร่วงประมาณ 50-100 เส้น นอกจากนี้ยังมีผมเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ผมที่เสียไปตามวงจรชีวิตของผม
เส้นผมจะมีความหนาแน่นที่สุด และเส้นใหญ่ที่สุดถึงอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้น เมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นและขนาดของเส้นผมจะเริ่มลดลง เนื่องจากวงจรชีวิตของเส้นผมเริ่มสั้นลง ทำให้ผมร่วงถี่ขึ้นและบางลง จนในที่สุดวงจรของเส้นผมหยุด และไม่สร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่อีกต่อไป ส่งผลให้ความหนาแน่นของเส้นผมน้อยลงเรื่อย ๆ จนทำให้เห็นลักษณะผมบาง หรือศีรษะล้านได้อย่างชัดเจน
ภาวะผมร่วงสามารถเกิดขึ้นได้ทีละน้อย หรือเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอาจเป็นแบบถาวรหรือชั่วคราว แม้ผมร่วงจะพบมากในผู้สูงอายุ แต่อาการผมร่วงมากเกินไป ก็อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีอายุน้อยด้วยเช่นกัน
ผมร่วง เกิดจากสาเหตุอะไร
- พันธุกรรม สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของผมร่วง คือ ในครอบครัวมีประวัติศีรษะล้าน จากการศึกษาเชื่อว่า สาเหตุทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ความเครียด และมลภาวะ เป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดภาวะผมบางได้ โดยมีความสัมพันธ์กับกับฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ แอนโดรเจน เนื่องจากฮอร์โมนนี้เป็นตัวกำหนดวงจร และควบคุมการเติบโตของเส้นผม
- ภาวะเจ็บป่วย การผ่าตัด ความเครียด หรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะผมร่วงชั่วคราว ซึ่งผมจะเริ่มงอกใหม่ได้โดยไม่ต้องรักษา
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้ผมร่วงได้ชั่วคราว อย่างเช่น การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การเลิกใช้ยาคุมกำเนิด และวัยหมดประจำเดือน
- โรคบางชนิดที่อาจทำให้ผมร่วง อย่างเช่น โรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อที่หนังศีรษะ และโรคที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น ไลเคนพลานัสและโรคลูปัสบางชนิด อาจทำให้ผมร่วงถาวรได้เนื่องจากแผลเป็น
- ผลกระทบจากยาที่ใช้รักษา อย่างเช่น โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ และภาวะซึมเศร้า
- การลดน้ำหนักอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น การลดน้ำหนักแบบควบคุมอาหารการกินหนักมากจนเกินไป หรือลดน้ำหนักโดยรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายเลยไม่สามารถส่งอาหารไปเลี้ยงเส้นผมได้ ทำให้ผมเปราะบาง และขาดหลุดร่วง
- มีไข้สูง ทำให้เกิดผมร่วงชั่วคราวได้
- ขาดสารอาหาร หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือไม่ได้รับประทานอาหารที่สมดุล อาจทำให้ผมร่วงได้ และเส้นผมใหม่ก็จะเจริญเติบโตช้าไปด้วย อย่างเช่น การขาดโปรตีน ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่น ๆ
วิธีการดูแลรักษาไม่ให้เกิดผมร่วง หรือผมบางเพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงการมัดผมที่แน่นเกินไป พยายามอย่าดึง บิด หรือขยี้ผมแรง ๆ
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กและโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน เพราะเส้นผมสร้างจากโปรตีนเป็นส่วนใหญ่
- เลือกใช้แชมพูที่อ่อนโยนต่อเส้นผม เหมาะกับสภาพหนังศีรษะ โดยแชมพูที่ใช้นั้นต้องไม่ก่อให้เกิดการแพ้ การคัน รังแค หรือผื่นบนหนังศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เคมี อย่างเช่น การเปลี่ยนสีผม สารฟอกขาว น้ำยาดัด และเครื่องมือจัดแต่งทรงผม อย่างเช่น เครื่องเป่าลม ที่หนีบผมผลิตภัณฑ์ เพราะเป็นสาเหตุของปัญหาผมร่วงเช่นกัน
- หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ผมร่วงอาจเป็นอาการของความเครียด หากกำลังเผชิญปัญหาผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล