โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD)
โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD) คือ โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เชื่อมั่นในตัวเองสูง ต้องการการยกยอชื่นชม ไม่ยอมรับในผู้อื่น ขาดความเห็นใจผู้อื่น มักหมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตัวเอง และบังคับผู้อื่นให้ทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการ
อาการของโรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเองจะปรากฏสัญญาณ หรือ พฤติกรรมของโรค ดังนี้
- มักยึดตัวเองเป็นสำคัญมากเกินไป อย่างเช่น หวังว่าผู้อื่นจะเห็นว่าตัวเองพิเศษ หรือ เหนือกว่าในด้านต่าง ๆ
- มักหมกหมุ่นกับการคิดถึงความสำเร็จ อำนาจ ความร่ำรวย ความงาม หรือความรักในอุดมคติของตัวเอง
- มีความเชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ บุคคลที่มีความพิเศษ หรือ สถานะทางสังคมที่สูงเทียบเท่ากันเท่านั้นถึงจะเข้าใจตน
- ต้องการความสนใจ การยอมรับ และความชื่นชมจากผู้อื่น
- คิดว่าสมควรได้รับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างไม่มีเหตุผล
- แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
- ขาดความเห็นใจและนึกถึงผู้อื่น
- มักริษยาผู้อื่น หรือ เชื่อว่าคนรอบข้างอิจฉาตนเอง
- มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง
สาเหตุของโรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเองยังไม่ปรากฏสาเหตุอย่างชัดเจน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ค่อนข้างซับซ้อนเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โรคหลงตัวเองอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดู ซึ่งนำไปสู่ภาวะดังกล่าว พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกตามใจมากเกินไป หรือ ละเลยการเอาใจใส่ลูก อาจทำให้เด็กเกิดความคิดและพฤติกรรมที่นำไปสู่โรคหลงตัวเองได้ รวมทั้งอาจเกิดความผิดปกติของสมองที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดและพฤติกรรม
โรคหลงตัวเองนับเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่แล้ว เด็กเล็กและวัยรุ่นอาจแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโรคนี้ แต่ไม่ได้พัฒนากลายเป็นโรคหลงตัวเองเสมอไป เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกตามวัย ทั้งนี้ ผู้ชายมักป่วยเป็นโรคหลงตัวเอง มากกว่า ผู้หญิง และจะเริ่มเป็นเมื่อเข้าช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น
การรักษาโรคหลงตัวเอง
ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองจะได้รับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาระยะยาวและทำโดยนักบำบัดที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความผิดปกติของบุคลิกภาพโดยตรง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาที่สั่งจ่ายจากแพทย์ควบคู่กับการทำจิต ดังนี้
- จิตบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบข้าง เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดและพฤติกรรมของโรคหลงตัวเอง อย่างเช่น สาเหตุที่ทำให้อยากแข่งขัน ไม่เชื่อใจผู้อื่น หรือดูถูกผู้อื่น การทำจิตบำบัดต้องใช้เวลาหลายปี
- การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ เป็นการรักษาผู้ป่วยโรคหลงตัวเองที่มีอาการรุนแรง โดยมีอาการหรือพฤติกรรมอื่นที่นอกเหนือไปจากอาการป่วยโรคหลงตัวเอง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างเช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราด ทำร้ายตัวเอง หลงผิดไปจากความเป็นจริง อาการซึมเศร้า หรืออาการวิตกกังวล เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
อ้างอิงจาก: https://www.pobpad.com/โรคหลงตัวเอง
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/15461