วิธีการดูแลรักษาส้นเท้าแตก
ส้นเท้าแตก เป็นภาวะที่เกิดรอยแยก หรือ รอยแตกในผิวหนังกำพร้าบริเวณส้นเท้า เกิดจากภาวะผิวขาดน้ำและอาจเกิดร่วมกับภาวะเคราตินมากเกินไป ในช่วงแรกรอยแตกของผิวหนังเหล่านี้จะเกิดเพียงเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้ให้ได้รับความกดดันและการเสียดสีจากการเดินหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ จะส่งผลทำให้รอยแตกนั้นลึกขึ้นจนถึงชั้นผิวหนังแท้ และเริ่มมีเลือดออก เกิดความเจ็บปวดตามน้ำหนักตัว และกิจกรรมที่ทำ
รอยแตกเหล่านี้เป็นแผลที่ผิวหนังซึ่งควรได้รับการดูแล ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วรอยแห้งแตกนี้เพียงแค่ก่อความรำคาญ และทำให้ไม่สวยงาม หากปล่อยทิ้งไว้จนรอยแตกขยายไปถึงชั้นผิวหนังแท้ จะทำให้ การยืน การเดิน หรือการนอนเกิดการเจ็บปวดได้
รอยแตกทำให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น เกิดเป็นแผลพุพอง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแห้งแตกของส้นเท้าได้มาก อย่างเช่น ผู้มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคหนังแข็ง เป็นต้น
การดูแลรักษาส้นเท้าแตก
ทาวาสลีนเป็นประจำ
วาสลีนเป็นตัวช่วยที่ง่ายและสะดวก แค่หมั่นทาวาสลีนเป็นประจำเป็น จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวบริเวณส้นเท้า และช่วยผสานรอยแตกให้เนียนนุ่มขึ้น ทำให้รอยแตกที่มีค่อย ๆ จางไป
แช่เท้าในน้ำอุ่น
เพียงแช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15 นาที แล้วเริ่มขัดผิวส้นเท้าแตก ด้วยที่ขัดเท้า ถูเบา ๆ เพื่อให้หนังกำพร้าบริเวณนั้นหลุดออก จากนั้นเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง แล้วบำรุงด้วยการทาโลชั่น หรือ วาสลีน เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น ทำให้รอยแตกจางลง
ถูด้วยเปลือกกล้วย
นำเปลือกกล้วยด้านในมาถูกบริเวณส้นเท้า ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หมั่นทำเป็นประจำจะช่วยฟื้นฟูและบำรุงผิวที่ส้นเท้าให้กลับมาเนียนนุ่มได้อีกครั้ง
แช่เท้าในน้ำสบู่ ทาด้วยวาสลีนผสมน้ำมะนาว
ผสมน้ำฟองสบู่แช่เท้าประมาณ 10-15 นาที จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้ง นำวาสลีนมาผสมกับน้ำมะนาว ทาที่ส้นเท้า ทิ้งไว้อีกครึ่งชั่วโมง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยคืนความชุ่มชื้น และช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดลอกออกไป
ดื่มน้ำเปล่า
การดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ จะช่วยฟื้นฟูผิวจากภายใน เพราะน้ำจะเข้าไปหล่อเลี้ยงผิวให้เกิดความชุ่มชื้น พยายามดื่มน้ำให้มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อสุขภาพผิวที่ดีและประโยชน์ต่อร่างกาย