ภาพถ่ายร้อยปี "เมื่อต่างชาติเข้ามาทำ สัมปทานป่าไม้สักเมืองเหนือ"
"สัมปทานป่าไม้สักเมืองเหนือ"
พ.ศ. ๒๔๒๖ รัฐบาลไทยเริ่มอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในประเทศไทยได้ และในช่วงเวลาเดียวกันคือหลังจาก พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นต้นมา ที่พม่าก็ได้ปิดป่าไม้สักไม่ให้มีการทำ เนื่องจากสภาพป่าสักเสื่อมโทรมลงมากจากการทำไม้ของบริษัทต่างชาติ และความต้องการไม้สักในหมู่ประเทศยุโรปจึงมีมากขึ้น เมื่อมีความชำนาญในการทำไม้ในพม่า บริษัทของอังกฤษทราบถึงวิธีการที่จะได้ผลมากที่สุดทั้งเทคนิคการตัดไม้และลากจูง การลงทุนที่คุ้มค่าและมีกำไรสูงสุด และการบริหารงาน ความเชี่ยวชาญ และเหตุผลข้างต้นทำให้บริษัททำไม้ของยุโรปเข้ามาตั้งบริษัททำธุรกิจในประเทศไทย
เริ่มจาก บริษัทบริดิช เบอร์เนียว จำกัด มาตั้งที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ แต่เริ่มอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด [Bombay Burma Trading Corporation,Ltd.]ของอังกฤษ ซึ่งเป็นใหญ่และมีอิทธิพลมากในประเทศพม่าเข้ามาใน พ.ศ. ๒๔๓๒ ตั้งสาขาที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทสยามฟอเรสต์ จำกัด [Siam Forest Company,Ltd.] ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแองโกลสยามและแองโกลไทย จำกัด เข้ามาทำป่าไม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ [Louis t.Leonowens Ltd.] ซึ่งแยกมาจากบริษัทบริดิช บอร์เนียว ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ และบริษัทของชาวเดนมาร์กอีกแห่งหนึ่งคือ บริษัทอิสต์ เอเชียติค จำกัด ตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นบริษัทที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายด้วย สำนักงานเดิมตั้งอยู่ข้างโรงแรมโอเรียลเต็ล และบริษัทนี้ยังคงทำธุรกิจอยู่จนทุกวันนี้ และยังมีบริษัทของฝรั่งเศสอีกหนึ่งบริษัทคือ บริษัทเอชิอาติก เออาฟริเกน ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ส่วนผู้ทำไม้รายย่อยซึ่งเริ่มเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นนายทุนของสยามได้แก่ บริษัทล่ำซำ จำกัด ของนายอึ้ง ล่ำซำ ซึ่งเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส บริษัทกิมเซ่งหลี จำกัด ก่อตั้งโดย นายอากรเต็งหรือหลวงอุดรภัณฑ์พานิช ซึ่งมีทุนน้อยกว่าชาวยุโรป นอกจากนี้ยังมีเจ้านายจากเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองแพร่และเมืองน่าน คนอเมริกันและฮอลันดา และคนท้องถิ่น
การทำป่าไม้ในมณฑลพายัพ ดำเนินการโดยพ่อค้าอังกฤษและชาวพม่าในบังคับอังกฤษ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ ๒ บริษัทป่าไม้อังกฤษใหญ่ๆ คือ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา และบริษัท บริดิช บอร์เนียว ซึ่งการดำเนินงานของทั้งสองบริษัทจะกระทำอย่างมีแบบเเผนและใช้วิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่ทำป่าไม้ก็มีความชำนาญในการทำป่าไม้มาจากพม่า เมื่อบริษัทได้มาตั้งสาขาขึ้นในมณฑลพายัพก็ดำเนินการทำป่าไม้ทุกอย่าง นับตั้งแต่การรับเช่าทำป่าไม้ การตัด แม้แต่การออกทุนในการรับซื้อไม้จากพ่อค้าไม้ชาวพื้นเมือง การทำธุรกิจป่าไม้เป็นแบบการรับสัมปทานป่าเป็นผืนๆ ไป การลงทุน เทคโนโลยี การจ้างแรงงานเป็นของบริษัทรับทำทั้งหมด ส่วนการอนุญาตเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ เช่น เจ้าผู้ครองนครของหัวเมืองต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การขัดแย้งในทางธุรกิจที่อาจนำไปสู่ข้ออ้างทางการเมืองที่ฝ่ายเจ้าอาณานิคมที่เป็นคนดูแลทั้งบริษัทและคนในบังคับชาติต่างๆ สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการจุดประเด็นเพื่อเข้ายึดดินแดนต่างๆ ได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในพม่าและที่อื่นๆ
การจัดการป่าไม้โดยรัฐบาลจากกรุงเทพฯ การฟ้องร้องจำนวนมากและหลายคดีที่ฝ่ายเจ้าของสัมปทานคือเจ้าผู้ครองนครเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้รัฐไทยตระหนักว่าความขัดแย้งเหล่านี้จะขยายเพิ่มมากขึ้นและคุกคามต่ออาณาเขตของรัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนั้น จนนำไปสู่ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์และยกเลิกหัวเมืองประเทศราช จัดระบบการปกครองที่ดูแลจากส่วนกลางอย่างเข้มข้นในระยะเวลาเดียวกัน การแก้ไขปัญหาในเรื่องการทำสัมปทานป่าไม้ซึ่งมีการออกพระราชบัญญัติและประกาศต่างๆ เกี่ยวกับไม้สักเพื่อแก้ปัญหาการให้สัมปทานเช่าซ้ำซ้อน การจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้น การลักขโมยตัดไม้ การฆาตกรรม การลอบตีตราเถื่อนและซ้ำซ้อน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖ เจ้าผู้ครองนครต่างๆ ที่จะทำสัญญากับชาวต่างประเทศต้องได้รับความยินยอมจากกรุงเทพฯ ก่อน
ในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๒๗ รัฐบาลส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไปเป็นข้าหลวงพิเศษแก้ไขปัญหาป่าไม้ และมีประกาศ พ.ศ. ๒๔๒๗ เรื่องซื้อขายไม้ขอนสักและประกาศเรื่องตัดไม้สัก พ.ศ. ๒๔๒๗ เพื่อควบคุมเรื่องการทำสัญญาเช่าป่าให้อยู่กับรัฐบาลและข้าหลวงจากกรุงเทพฯ เท่านั้น ห้ามเจ้านายเจ้าของป่าออกใบอนุญาตแก่ผู้ขอเช่าทำป่าไม้เอง เป็นการลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครโดยตรง เพราะรายได้จำนวนมากเหล่านี้ตกอยู่กับเจ้านายในหัวเมืองต่างๆ ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มในการจัดระบบการปกครองแบบศูนย์รวมอำนาจที่จะเกิดขึ้น และห้ามไม่ให้ตัดฟันไม้สักในป่าเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน นอกจากได้รับอนุญาตจากข้าหลวง นอกจากนี้ยังมีประกาศเรื่องการเก็บภาษีไม้ขอนสักให้ถูกต้องใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ห้ามไม่ให้ล่องไม้ในเวลากลางคืน ห้ามลักขโมยไม้ใน พ.ศ. ๒๔๓๙
รัฐบาลได้โอน Mr. Castenjold ที่เดิมปฏิบัติราชการประจำกระทรวงการคลังมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยสำรวจสถานการณ์ป่าไม้สักทางมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ได้ล้มป่วยและถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันที่จังหวัดตาก ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เจรจาขอยืมตัว Mr. H. A. Slade ข้าราชการอังกฤษที่รับราชการในกรมป่าไม้พม่าให้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ คำปรึกษา ในกิจการป่าไม้ของไทย เช่นเดียวกับที่ Sir. Dietrich Brandis ได้เริ่มลงมือจัดการป่าไม้ในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙
ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ Mr. Slade ขึ้นไปตรวจการทำป่าไม้ในหัวเมืองภาคเหนือ โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ พร้อมนักเรียนไทยฝึกหัดอีก ๕ คน ออกไปสำรวจและนำเสนอรายงานชี้แจงข้อบกพร่องต่างๆ ของการทำป่าไม้ในเวลานั้น และให้ข้อเสนอแนะต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลไทยเคยออกประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆ โดยสรุปคือ ข้อเสนอแนะต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของ Mr. Slade
- ควรทำแผนที่แบ่งป่าไม้สักและไม้อื่นๆ ทางภาคเหนือเพื่อทราบความหนาแน่นของไม้และมูลค่าจริงของป่าแต่ละแห่งแล้วจัดวางโครงการทำป่าไม้
- ควรสำรวจไม้อื่นที่ไม่ใช่ไม้สักเพื่อใช้ทดแทนไม้สัก เป็นการสงวนพันธุ์ไม้สักไว้ใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะสมต่อไปควรดำเนินการให้ป่าไม้อยู่ในความดูแลของรัฐบาลและยกเลิกส่วนแบ่งค่าตอไม้ซึ่งเจ้านายต่างๆ ได้รับมาแต่เดิม โดยรัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้เป็นการทดแทน รวมทั้งควรจัดตั้งหน่วยงานควบคุมป่าไม้ขึ้นเป็นทบวงการเมืองของรัฐ
- ควรออกกฎหมายสำหรับควบคุมกิจการป่าไม้เพื่อป้องกันรักษาป่า การจัดวางโครงการป่าและการจัดเก็บผลประโยชน์จากป่า รวมทั้งการแก้ไขสัญญาอนุญาตทำไม้ให้มีความเป็นระเบียบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
- ควรจัดส่งนักเรียนไปศึกษาอบรมที่โรงเรียนการป่าไม้ในต่างประเทศ ๒-๓ คนทุกปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบริหารกิจการป่าไม้ไทยต่อไป
- ควรจัดตั้งด่านภาษีใหม่รวม ๖ แห่ง ที่เมืองพิชัย สวรรคโลก ปากน้ำโพ และกรุงเทพฯ ส่วนค่าตอไม้สำหรับไม้ที่ล่องลงแม่น้ำสาละวิน
- ควรตั้งด่านภาษีที่เมืองมะละเเหม่งหรือเมาะลำเลิง เพื่อควบคุมไม้ที่ล่องไปยังพม่า และควรปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานการป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นชอบกับกระทรวงมหาดไทยและรายงานของ Mr. Slade ว่าถูกต้องสมควรทุกประการ โดยกล่าวถึงอำนาจรัฐบาลซึ่งถือว่าป่าไม้เป็นของหลวงมาแต่เดิมจะใช้สิทธิ์ตามอำนาจนั้น เจ้าผู้ครองนครผู้เป็นเจ้าของป่าเมื่อเป็นผู้อนุญาตแต่ผู้เดียวก็ไม่สามารถจัดการกับการสัมปทานค่าตอไม้ได้อย่างชัดเจน และการใช้จ่ายเงินทองรั่วไหลไปที่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ถึงรัฐอย่างเต็มที่ หากจะสูญเสียรายได้ก็น่าจะเป็นการเสียรายได้จากการจ่ายเงินเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาคอรัปชั่นในการสัมปทานป่ามาตั้งแต่ช่วงแรกๆจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปิดให้สัมปทานหรือทำสัญญาเช่าทำป่าไม้สัก กลายเป็นช่องทางให้ผู้รับเหมาตัดไม้สักอย่างเดียว ไม่จำกัดขนาดและปริมาณจนหมดป่า รัฐบาลกลางจึงจัดตั้ง กรมป่าไม้ ขึ้นในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal Forest Department สังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากในเวลานั้นกระทรวงเกษตราธิการเพิ่งจะสถาปนาขึ้นใหม่ ยังไม่มีกำลังพอจะดำเนินการเองได้ และชื่อภาษาอังกฤษบ่งบอกเป็นนัยว่า ป่าไม้นั้นเป็นของหลวง
เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ Mr. Slade เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา สิ่งที่กรมป่าไม้จัดการก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ป่าไม้ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจจากเจ้านายจากหัวเมือง โดยเฉพาะที่เกิดเหตุการณ์จนถึงกับล้มเลิกระบบเจ้าหลวงปกครองเมืองเป็นแห่งแรกในหัวเมืองเหนือ เช่นที่เมืองแพร่
FB : เพจล้านนาประเทศ , หนังสือนครแพร่จากอดีตมาปัจจุบันฯ , วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อ้างอิงจาก: เพจล้านนาประเทศ , หนังสือนครแพร่จากอดีตมาปัจจุบันฯ , วลัยลักษณ์ ทรงศิริ