ธุรกิจร้านค้าในสิงคโปร์ ขายของที่ที่มีป้าย Best Before เพื่อลดปัญหาขยะอาหาร
เพื่อต้องการลดขยะอาหาร ทำให้สิงคโปร์ผุดไอเดีย Mono Foods ขึ้นมา โดยชาวสิงคโปร์ทิ้งอาหารราว 2,000 ตันต่อวัน และสร้างขยะอาหารราว 6.6 แสนตันในปี 2022 แต่เศษอาหารเหล่านี้มีเพียง 18% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ขณะที่ไทยสร้างขยะอาหาร 9.7 ล้านตัน ปัญหาขยะอาหารในสิงคโปร์เข้าขั้นวิกฤต ทางรัฐบาลจึงผุดสารพัดวิธีในการแก้ไขปัญหา Food Waste อาทิ เปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ย ออกกฎหมายบำบัดขยะอาหารในอาคาร หรือแม้แต่มีโครงการให้ร้านค้าต่าง ๆ บริจาคอาหารเหลือไปยังโรงทาน และองค์กรการกุศลทั่วประเทศ Mono Foods ก่อตั้งขึ้นในปี 2021 ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า Yue Hwa ย่านไชน่าทาวน์ โดยมี ลีโอนาร์ด ชี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สินค้าทุกชิ้นในร้าน Mono Foods มีอยู่ 2 ประเภทคือสินค้าใกล้หมดอายุ และสินค้าที่จะหมดอายุในอีก 3-9 เดือนข้างหน้า
แต่ความพิเศษคือสินค้าทุกชิ้นจะขายในราคาถูก (มาก) ชนิดที่ว่าลูกค้าเลือกที่จะมาซื้อสินค้าในร้านนี้มากกว่าเดินเข้าห้าง หรือซูเปอร์มาร์เก็ตเสียอีก โดยสินค้าที่วางขายในร้านนี้มีหลากหลายประเภทด้วยกัน อุปโภค บริโภค ครบครัน อาทิ อาหาร น้ำ นม ขนม ครีม ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ยารักษาโรค แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือในแต่ละวันจะมี สินค้าฟรี วางไว้ ลูกค้าสามารถหยิบไปได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม สินค้าใน Mono Foods ไม่ได้ขายแยกชิ้น แต่มีจะมีกล่องหลายขนาดไว้ให้ ซึ่งแต่ละขนาดราคาจะไม่เท่ากัน อาทิ 12-15 สิงคโปร์ดอลลาร์, 15-20 สิงคโปร์ดอลลาร์, 25-30 สิงคโปร์ดอลลาร์
โดยลีโอนาร์ด ชี เปิดเผยว่าลูกค้าสามารถใส่สินค้าลงกล่องเท่าไรก็ได้ ตราบใดที่มันไม่ล้นออกมา โดยปกติผู้คนมักมีอคติกับอาหารที่มีป้ายติดว่า Best Before หรือ ควรบริโภคก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วยังบริโภคได้ เพียงแต่รสชาติอาจไม่เลิศรสเหมือนเดิม แต่ยังสามารถรับประทานได้ เมื่อเกิดอคติขึ้น ผลที่ตามมาคือผู้บริโภคจะไม่ซื้ออาหารที่มีป้าย Best Before ติดอยู่ จนอาหารเหล่านี้ท้ายที่สุดต้องนำไปทิ้ง อันที่จริงห้างร้านก็เล็งเห็นปัญหานี้ และมีความพยายามท่จะถ่ายสินค้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดเป็น Food Waste นั่นเอง Mono Foods จับมือกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ รับสินค้ามาขายต่อ เพียงเท่านี้อาหารเหล่านั้นก็จะไม่กลายเป็นขยะอาหารแล้ว แถมยังขายได้ เพราะถูกนำมาขายต่อในราคาถูก และได้รับการโปรโมทอย่างจริงจัง หลังจากนั้น พฤติกรรมผู้บริโภคก็ค่อย ๆ เปลี่ยน หันมาซื้อสินค้าจากร้าน Mono Foods กันมากขึ้น อาหารที่ผลิตออกมาไม่สูญเปล่า แม้เป็นการกระทำเล็ก ๆ แต่เพียงเท่านี้วงจรการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนก็เกิดขึ้นแล้ว