ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการลดความอ้วน
ลดความอ้วนต้องอดอาหาร
การ “อดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก” เป็นความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นไอเดียที่ผิด
ความจริง : หากต้องการลดน้ำหนัก เราต้องให้ร่างกายมีการใช้พลังงานหรือมีการเผาผลาญพลังงานให้มากกว่าพลังงานจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ดังนั้น การลดน้ำหนัก หรือ ลดความอ้วน จึงต้องมีการควบคุมปริมาณแคลอรี่จากการรับประทานอาหาร ซึ่งไม่ใช่การอดอาหาร
โดยเฉลี่ยผู้หญิงต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ และผู้ชายต้องการพลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่
หากต้องการลดน้ำหนัก แนะนำให้ลองลดแคลอรี่ในอาหารที่รับประทานลงวันละ 500 กิโลแคลอรี่ หรือเพิ่มกิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมที่เพิ่มการเผาผลาญมากขึ้น 500 กิโลแคลอรี่ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนได้
นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลกับการใช้พลังงานในร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ กิจวัตรประจำวัน เป็นต้น
การอดอาหารจะส่งผลให้ร่างกายหวงแหนพลังงานมากขึ้นกว่าเดิม และร่างกายจะปรับลดอัตราการเผาผลาญลงให้เท่าเทียมกับปริมาณอาหารที่กิน ดังนั้นเมื่อคุณอดอาหารไปสักพักน้ำหนักก็จะไม่ลดลง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มกลับมากินอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายถูกปรับให้น้อยลงในช่วงของการอดอาหาร ซึ่งเราจะเรียกวงจรนี้ว่า “โยโย่เอฟเฟค” จึงมั่นใจได้เลยว่าการอดอาหารนั้น ไม่ใช่ทางออกของการลดน้ำหนักอย่างแน่นอน
รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ทำให้อ้วน
หลายคนเชื่อว่าการทานเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นโปรตีนจะไม่ทำให้อ้วน และจะกินมากแค่ไหนก็ได้
ความจริง : เนื่องจากในเนื้อสัตว์มีชั้นไขมันแทรกอยู่ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดมันหรือมีไขมันแทรกเป็นจำนวนมากอาจเป็นสาเหตุของแคลอรี่ที่เกินและทำให้อ้วนได้ ดังนั้นหากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้รับประทานเนื้อสัตว์ชนิดที่มีไขมันต่ำ ตัวอย่างเช่น เนื้ออกไก่ เนื้อสันในหมู ไข่ขาวต้ม เป็นต้น จึงจะดีกับการลดน้ำหนักมากที่สุด
ช่วงลดน้ำหนักควรรับประทานเฉพาะผักและผลไม้
ความจริง : การรับประทานผักและผลไม้เพียงอย่างเดียวถึงจะได้รับพลังงานเพียงพอ แต่ก็จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ จึงไม่แนะนำให้รับประทานแต่ผักและผลไม้เพื่อลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงหากกินเข้าไปในปริมาณมาก ๆ ก็อาจทำให้น้ำหนักขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้การรับประทานผักเพิ่มในมื้ออาหาร หรือ การรับประทานผลไม้ทดแทนขนมหวาน หรือ ขนมจุกจิกระหว่างมื้อน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะผักและผลไม้มีกากใย ช่วยให้รู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการขับถ่าย แต่ก็ควรระวังไม่เลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดจนเกินไป
รับประทานเร็วหรือช้าไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก
หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าความเร็วในการกินนั้นสามารถช่วยลดน้ำหนักได้
ความจริง : การใช้เวลาในการรับประทานอาหารให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น ช่วยให้ลดหรือควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดและการรับประทานช้า ๆ จะช่วยกระตุ้นและส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวและความอิ่ม ทำให้อิ่มเร็วขึ้น นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอีกด้วย
กินอาหารมังสวิรัติช่วยลดความอ้วนได้
ความจริง : การทานอาหารมังสวิรัติไม่ใช่การทานอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การทานอาหารเพื่อลดน้ำหนัก คือ การทานอาหารในสัดส่วนของโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมกับพลังงานที่ต้องการ อาหารแบบมังสวิรัติบางอย่างมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูงสามารถทำให้อ้วนได้เช่นกัน