แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TEMU จากแดนมังกร กินรวบทุกอย่างราวกับเอเลียนสปีชีส์ในบ้านเรา
อันเนื่องมาจากการที่สามารถจัดส่งพัสดุได้มากกว่า 1.6 ล้านชิ้นต่อวัน หนึ่งปีมากกว่า 584 ล้านชิ้น ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 5.8 ล้านตันต่อปี และสร้างขยะบรรจุภัณฑ์และขยะเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมประมาณ 92 ล้านตันต่อปี ทั้งยังใช้น้ำไปเกือบ 79 ล้านล้านลิตรในกระบวนการผลิต” นี่คือเบื้องหลังของการประสบความสำเร็จของ TEMU อีคอมเมิร์ซเจ้าดังจากแดนมังกร ภายใต้สโลแกน ถูกสุด เร็วสุด หลากหลายสุด และพร้อมยินดีคืนเงิน ซึ่งได้ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายภาคส่วนเกิดความกังวลต่อธุรกิจของตนเองในอนาคต
TEMU เป็นแพลตฟอร์มภายใต้เครือของ PDD Holdings ที่เกิดขึ้นในปี 2022 แต่กลับเติบโตอย่างรวดเร็วจนแซงยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon และ Shein ในด้านยอดดาวน์โหลดแอป ด้วยรูปแบบธุรกิจที่ตัดคนกลางออกไปจากสมการการซื้อขาย เหลือเพียงแค่ผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ลดต้นทุนไปได้อย่างมาก
ทั้งยังมีการใช้ AI เข้ามาช่วยรวบรวมและประมวลผลข้อมูลผู้ใช้งาน จนเท่าทันต่อเทรนด์ในปัจจุบันและออกสินค้ามาได้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้แบบที่ไม่ต้องรอนาน แน่นอนว่าปริมาณที่มากและรวดเร็วนี้ ก็ต้องแลกมาด้วยคุณภาพที่ต่ำ และเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นขยะในที่สุด การเฟื่องฟูของ TEMU นั้นต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรโลก และการล้มลงของธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก เพราะเมื่อมีตลาดใหญ่ที่กินรวบทุกอย่างและนำมาส่งต่อให้กับผู้บริโภคในราคาโปรโมชั่นแบบ ลด แลก แจก แถม ก็ทำให้ผู้คนเลิกตั้งคำถามถึงต้นทุนที่แท้จริงของสิ่งของเหล่านี้ และมองเพียงประโยชน์ที่ได้รับในช่วงเวลาสั้นๆแทน ดังนั้น หากจะเปรียบการมีอยู่ของ TEMU เป็นเหมือนเอเลี่ยนสปีชีส์ก็ดูจะไม่เกินจริงเลย เพราะนอกจากจะไม่หยุดขยายฐานลูกค้าแล้ว ก็ไม่ได้สนใจด้วยว่าทำลายสิ่งแวดล้อมและพ่อค้าแม่ขายรายย่อยไปมากเท่าไหร่ ซึ่งการจะควบคุมเอเลี่ยนตัวนี้ให้ได้นั้น ก็มีเพียงทางเดียวคือภาครัฐที่ต้องเข้ามามีบทบาท มาตรการบังคับที่ชัดเจน เพราะไม่อย่างนั้นจากประชาชนที่เคยเป็นเจ้าของประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ อาจกลายเป็นเพียงผู้เช่าอาศัยที่ต้องอยู่กับมลพิษและกองขยะจาก TEMU ในที่สุดนั่นเอง