ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่ม NCD (Non-Communicable Diseases) ที่เป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมาย ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายร้อยล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตามคนทั่วไปยังมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่มาก ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้โดยไม่รู้ตัว
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง ?
1. รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงทำให้เป็นเบาหวาน การเป็นเบาหวานไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารหวานที่มีน้ำตาลสูงเท่านั้น การรับประทานอาหารประเภทข้าว แป้ง หรือ ไขมัน มากเกินไปก็สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในเลือด และยังทำให้เกิดโรคอ้วน ส่งผลให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน
2.เบาหวานเป็นโรคของคนสูงอายุเท่านั้น โรคเบาหวานสามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคเบาหวาน เบาหวานประเภทที่ 1 ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็ก หรือ คนอายุน้อย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป ปัจจุบันเริ่มพบคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อายุน้อยลง
3.คนผอมไม่เป็นเบาหวาน ? ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอมก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ แม้คนน้ำหนักตัวมากจะมีโอกาสเป็นเบาหวานสูงกว่า เพราะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากกว่า แต่คนผอมที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น มีพันธุกรรมของโรคเบาหวาน หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ก็สามารถมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน
4.ในครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นคุณจะไม่เป็นเบาหวาน แม้ไม่มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน แต่เราก็สามารถเป็นได้หากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
5.หากเป็นเบาหวานห้ามให้เลือด ถ้าเป็นเบาหวานสามารถให้เลือดได้ ถ้าการควบคุมระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ผู้รับบริจาคโลหิตอีกครั้ง