6 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ
1.อาหารเสริมช่วยรักษาโรค ชื่อก็บอกว่าเป็นอาหารเสริม ซึ่งก็คือ เป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมให้ร่างกายเพิ่มเติมจากสารอาหารหลัก หรือช่วยเสริมสารอาหารที่ร่างกายขาดไป ซึ่งอาหารเสริมเหล่านี้ไม่มีผลในการรักษาโรคแต่อย่างใด และยังมีความเข้าใจผิดอีกว่า การที่รับประทานอาหารเสริมแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารหลัก ความจริงแล้วสิ่งที่ร่างกายต้องการจริง ๆ คือ สารอาหารที่ได้จากอาหารหลัก 5 หมู่ กินอาหารทุกมื้อในปริมาณที่พอเหมาะ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ต้องการมีสุขภาพที่ดี
2.คนผอมสุขภาพดีกว่าคนอ้วน ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะอ้วน หรือผอม ก็สามารถเป็นโรคได้ทั้งสิ้น จะสุขภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ การรักษาสุขภาพของแต่ละคน คนอ้วนอาจดูแลสุขภาพ แต่ความอ้วนอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โครงสร้างทางพันธุกรรม เป็นต้น คนผอมที่ไม่ออกกำลังกาย อาจจะอ่อนแอกว่าคนอ้วนที่ดูแลสุขภาพก็ได้
3.ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วต่อวัน ความจริงแล้ว เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า วันหนึ่งเราดื่มน้ำไปกี่แก้ว เพราะน้อยคนที่จะนับว่าตนดื่มน้ำกี่แก้วต่อวัน แต่เราสามารถรู้ได้ว่า เราดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ คือดูจากปัสสาวะ หากปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม นั่นหมายความว่าเราดื่มน้ำน้อยเกินไป
4.ออกกำลังกายลดน้ำหนักได้ 100 % ความจริงแล้ว ต่อให้ออกกำลังกายมากเพียงใด แต่ถ้าหากรับประทานมากเท่าเดิม การออกกำลังกายก็ไม่มีผลเท่าใดนัก ควรควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกายด้วย เพราะถึงแม้ว่าเราจะออกกําลังกายบ่อยแค่ไหนก็ตาม แต่หากขาดการวางแผนการกินที่ดีต่อสุขภาพแล้ว การออกกําลังกายที่ทำไปนั้น ก็ถือว่าสูญเปล่าได้
5.อากาศเย็นทำให้คนเป็นหวัด ความจริงแล้ว การที่คนเราจะเป็นหวัดได้นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ภูมิคุ้มกันโรคที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี เวลาเจออากาศเย็น อาจจะไม่ป่วยเลยก็ได้
6.หลีกเลี่ยงไขมันเพราะทำให้อ้วน ความจริงแล้ว ไขมันนั้นหากรับประทานอย่างพอเหมาะแล้ว จะสร้างประโยชน์ให้แก่ร่างกาย เพราะหน้าที่ของไขมัน ก็คือ การช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ ช่วยละลายวิตามินต่าง ๆ ช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่มีสภาพแย่ และทำให้ร่างกายอบอุ่น กล่าวคือ ไขมันจากเนื้อสัตว์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานให้พอเหมาะในแต่ละวัน ไม่มากจนเกินไป
อ้างอิงจาก: กฤษดา รามัญศรี. (2560). สุขภาพดี ด้วยวิธีดูแลตากรุ๊ปเลือด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์.
https://www.phyathai.com/th/article/1875-16_ความเข้าใจผิดเรื่องกา
https://www.thaihealth.or.th/บอกลาค่านิยมการกินแบบผ/