แพทย์เตือน ใช้น้ำมันทำอาหารผิดประเภท อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งได้
ข่าวสารภัยใกล้ตัวในครัว(อีกแล้ว) วันนี้ว่าด้วยเรื่องการเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะแก่การปรุงอาหาร โดยเว็บไซต์ HK01 รายงานว่า เซียว เจี๋ยเจี้ยน แพทย์ชาวไต้หวัน เล่าว่า คุณป้าจู เป็นแม่บ้านที่ชอบทำอาหาร แต่ในระหว่างการตรวจสุขภาพปีนี้ เธอพบว่าเธอเป็นมะเร็งปอดระยะเริ่มแรก โชคดีที่ตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงสามารถรักษาโดยการผ่าตัด ไม่ต้องผ่านเคมีบำบัด ถือว่าเป็นโชคดีในโชคร้าย แต่ทำไมคุณป้าจูถึงป่วยเป็นมะเร็งปอดได้ ทั้ง ๆ ที่เธอดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี และไม่สูบบุหรี่ หลังจากแพทย์ทำการซักประวัติ จึงทราบว่าปัญหาอยู่ที่วิธีการทำอาหารของเธอเอง คุณป้าจูมักใช้ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์สกัดเย็น ซึ่งเป็นน้ำมันมะกอกที่มีคุณภาพสูงในการประกอบอาหาร แต่จริงๆแล้วน้ำมันมะกอกสกัดเย็นมีจุดเดือดต่ำ ประมาณ 160-190 องศา เหมาะสำหรับทำสลัดเย็นหรือปรุงอาหารที่อุณหภูมิต่ำ หากต้องการผัดควรเลือกน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์มากกว่า เนื่องจากจุดเดือดของน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์จะสูงกว่าประมาณ 230 องศา
อย่างไรก็ตาม น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ก็ไม่เหมาะสำหรับการอุ่นหรือทอดอาหารตลอดเวลา หากปรุงที่อุณหภูมิสูงนานเกินไป จะผลิตอะคริลาไมด์หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและมะเร็ง คุณหมอเซียว เจี๋ยเจี้ยน ยังชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ในไต้หวันที่เป็นมะเร็งปอดนั้นสูงถึง 53% แต่สัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียที่เป็นมะเร็งปอดนั้นมีเพียง 10-20% เท่านั้น สาเหตุสำคัญอาจมาจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะจุดเดือดและความเสถียรของน้ำมันนั้นมีความสำคัญอย่างมาก น้ำมันมะกอกสกัดเย็น และน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ แม้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่เหมาะสำหรับการทานสดราดบนอาหาร หรือปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนต่ำเท่านั้น หากต้องการ ผัด ทอด หรือทำอาหารที่ใช้ความร้อนสูง ควรเลือกใช้น้ำมันที่มีจุดเดือดสูงอย่างเช่นน้ำมันปาล์มเป็นต้น