ปลาหมอบัตเตอร์: นักล่าลายแถบจอมคุกคาม
หลังจากเราได้เจาะลึกถึงปลาหมอสีไปแล้วสามชนิดที่คุกคามระบบนิเวศและการเกษตรของไทยเรา วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับปลาหมอสีอีกชนิดที่ติดกฏหมายห้ามเพาะเลี้ยง และยังมาจากถิ่นกำเนิดเดียวกันกับเจ้าปลาหมอสีคางดำอีกด้วย ถ้าคุณสนใจและพร้อมแล้วไปชมกันเลย
ประวัติ
ปลาหมอบัตเตอร์ ชื่อวิทยาศาตร์: (Heterotilapia butterforkei) เป็นปลาหมอสีขนาดใหญ่พบในทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก เป็นปลาหมอสีที่ตัวใหญ่ ยาวได้ถึง 45 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง หัวกลมหยักมีโหนก มีลายสีขาวหรือเหลืองสลับดำดูคล้ายม้าลาย บางครั้งในวงการปลาสวยงามจึงเรียกปลาหมอม้าลาย หรือปลาหมอลายแตน มีฟันเขี้ยวในปาก มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย กินสัตว์น้ำและแมลงน้ำต่างๆ เป็นอาหาร พบได้ในฝั่งน้ำจืดหรือกร่อยอ่อนๆ ของฝั่งแม่น้ำคองโก และแม่น้ำอื่นๆ ในแอฟริกาตะวันตกหลายๆ ประเทศ
ปลาหมอบัตเตอร์ มีพฤติกรรมหวงลูกและดูแลลูกเช่นเดียวกับปลาหมอสีชนิดอื่นๆ โดยจะตีแปลงขุดพื้นดินใต้น้ำเป็นรังแปลงกว้างหรือวางไข่กับวัสดุใต้น้ำ เมื่อไข่ได้รับการผสม ใช้เวลาประมาณ 30 วันถึงจะฟักตัว และยังเจริญเติบโตเร็วอีกด้วย โดยเมื่ออายุถึง 1 ปีก็เริ่มผสมพันธุ์ได้ ปลาหมอบัตเตอร์นั้นมีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤษาคมถึงเดือนตุลาคมในฤดูฝน
ในธรรมชาติ มีจระเข้แม่น้ำไนล์ และปลาไทเกอร์ฟิชเป็นนักล่าตามธรรมชาติ แต่ปลาหมอบัตเตอร์ก็แทบจะยืนหนึ่งในห่วงโซ่อาหารด้วยขนาดตัวที่ใหญ่และพฤติกรรมการล่าปลาอื่นๆ ที่เล็กกว่า
การนำเข้ามาไทยและรุกราน
ปลาหมอบัตเตอร์ ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2535 โดยนำเข้ามาเพื่อตลาดปลาสวยงามและการบริโภค เพราะมีเนื้ออร่อยหอมมันเนยตามชื่อต่างจากปลานิล และตัวโตกว่า กระนั้น เมื่อความนิยมเสื่อมลง เกษตรกรบางคนที่มักง่ายเริ่มปล่อยพวกมันลงแหล่งน้ำธรรมชาติในอ่างเก็บน้ำ นักล่าในอ่างเก็บน้ำจะน้อยกว่าที่อื่นๆ เพราะแหล่งน้ำนั้นไม่ได้เชื่อมต่อกับแม่น้ำหลัก ทำให้สัตว์น้ำในพื้นที่ถูกล่าจนจะสูญพันธุ์ และปลาหมอบัตเตอร์ยังชอบกินลูกปลาอื่นๆ อย่างปลาแรด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาตะเพียน ปลากระแหเพื่อตัดคู่แข่งอีกด้วย กระนั้น จึงมีการรณรงค์ให้ขายและบริโภคปลาหมอบัตเตอร์โดยต้องทำให้ตายก่อนกิน และห้ามเพาะขยายพันธุ์หรือขนย้ายทั้งที่มีชีวิตเพื่อกันการนำไปลักลอบเพาะเลี้ยงแล้วปล่อยลงไปยังแหล่งน้ำอื่น โดยอ่างเก็บน้ำที่มีรายงานการระบาด มีที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เขื่อนเขาแหลม เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ปลาน้ำจืดนักล่าท้องถิ่นของไทยอย่างปลาชะโด ปลาช่อนงูเห่า ปลาเค้าดำ ปลาเค้าขาว และปลากดต่างๆ ก็เป็นนักล่าที่กินปลาหมอบัตเตอร์ได้ดี แต่กระนั้นก็สามารถพบปลาท้องถิ่นเหล่านี้ปะปนกับปลาหมอบัตเตอร์ได้