Scheele's Green สีเขียวสุดสวย แต่แฝงด้วยความตาย
คนเรามักจะแสดงออกถึงสถานะทางสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างในสมัยวิคตอเรียเป็นยุคสมัยที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย งานศิลปะ ไปจนถึงรสนิยมในการตกแต่งบ้าน ซึ่งจะถูกนำมาวัดและตีค่าชนชั้นทางสังคม ผู้มีอันจะกินจะซื้อของใช้และเครื่องตกแต่งแบบใหม่ล่าสุด เพื่อทำให้บ้านกลายเป็นตัวแทนของความมั่งมี โดยในสมัยนั้น สีเขียวเชลลี่ (Scheele's Green) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงความร่ำรวย ความหรูหรา และความทันสมัย
ทำให้แฟชั่นสีเขียวในยุคนั้นถูกใช้กันอย่างล้นหลามในสังคมคนมีเงิน สีเขียวเชลลี่ ถูกคิดค้นในปี 1775 โดย คาร์ล วิลเฮ็ล์ม เชเลอ (Carl Wilhelm Scheele) นักเคมีชาวสวีเดน สีนี้ทำจากสารหนูและทองแดง ทำให้มีสีเขียวสดใส แต่เนื่องจากมีสารหนูเป็นส่วนประกอบ สีนี้จึงเป็นพิษอย่างมากเมื่อสัมผัสหรือสูดดม โดยผลกระทบของการใช้สีเขียวนี้คือ จะมีอาการแสบตา ปวดหัว เจ็บคออย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ไม่สามารถกลืนอาหารได้
ทำให้ร่างกายป่วยทรุดโทรมจนกระทั่งเสียชีวิต สีนี้ถูกใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สีทาบ้าน งานศิลปะ ของเล่นเด็ก พรม เทียนไข ไปจนถึงสีย้อมผ้า แต่ในยุคนั้นความรู้เกี่ยวกับอันตรายของสารหนูยังไม่แพร่หลาย ทำให้ประชาชนยังไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของสีเขียวนี้ เมื่อสีเขียวถูกใช้แพร่หลาย เหตุการณ์การตายลึกลับของเด็กจำนวนมากก็เริ่มปรากฏ แต่ความเข้าใจในยุคนั้นยังคิดกันว่าเด็กๆ น่าจะเป็นโรคอื่นอย่างคอตีบ หรืออหิวาต์ ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดมากในอังกฤษ
จนมีข่าวลือว่าสีเขียวเชลลี่อาจเป็นภัยถึงชีวิต ทำให้เรื่องราวนี้ถูกนำมาเล่าในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งในปี 1903 รัฐสภาอังกฤษถึงออกมายืนยันว่าสีเขียวเชลลี่มีส่วนประกอบของสารหนูที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปซะแล้ว เพราะสีเขียวนี้ถูกพบจนเป็นปกติทั้งในแสตมป์ โปสต์การ์ด หรือแม้แต่เป็นสีที่เอาไว้พ่นในผักเพื่อให้ดูน่ารับประทาน แต่สีเขียวเชลลี่นี้ ก็ไม่เคยถูกห้ามใช้ผ่านกฎหมายแต่อย่างใด แต่เนื่องจากประชาชนตระหนักถึงความอันตรายของสีนี้ทำให้คนเลิกใช้ และไม่ได้นำสีนี้มาใส่ในผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกเลยนั่นเอง