นักวิทย์ฯเผย เดือนมิ.ย.67 ร้อนสุดทำลายสถิติ ร้อนสุดติดต่อกันมา 13 เดือนแล้ว
เป็นอีกหนึ่งสถิติที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยเรื่องนี้ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาหลังจากนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์โคเปอร์นิคัส หน่วยงานสังเกตการณ์สภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นเดือน มิ.ย. ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยทั่วโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16.66 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีของเดือน มิ.ย. ประมาณ 1.2 องศาฯ
ทำให้ระหว่างเดือน มิ.ย. 2566 - มิ.ย. 2567 อุณหภูมิของโลกทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ 13 เดือนติดต่อกัน และเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันที่โลกมีอุณหภูมิสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาฯ นิโคลัส จูเลียน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศอาวุโสของโคเปอร์นิคัส กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเข้าใกล้ขีดจำกัดที่สำคัญมากที่ถูกกำหนดโดยข้อตกลงปารีส โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาฯ
นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นขีดจำกัดภาวะโลกร้อนที่เกือบทุกประเทศในโลกเห็นพ้องกันในความตกลงปารีสปี 2558 โดยตามข้อมูลของโคเปอร์นิคัส เมื่อเดือน มิ.ย. 2567 โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16.66 องศาฯ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือน มิ.ย. ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ราว 0.67 องศาฯ ซึ่งทำลายสถิติเดือน มิ.ย. ที่ร้อนที่สุดที่เกิดขึ้นหนึ่งปีก่อนหน้านั้น 0.14 องศาฯ และถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสาม จากบรรดาเดือนใดๆ ที่มีการบันทึกไว้โดยโคเปอร์นิคัส รองจากเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของปีที่แล้ว
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ จากความร้อนในเดือนมิถุนายน เช่น ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ตุรกี แคนาดาตะวันออก ทางตะวันตกของสหรัฐฯ และเม็กซิโก บราซิล ไซบีเรียตอนเหนือ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และแอนตาร์กติกาตะวันตก ขณะที่ แพทย์ต้องรักษาผู้ป่วยโรคลมแดดหลายพันรายในปากีสถานเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากอุณหภูมิสูงถึง 47 องศาฯ
โคเปอร์นิคัสยังระบุว่า เดือน มิ.ย. ยังเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน ที่มหาสมุทรของโลก ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 ของพื้นผิวโลก ทำลายสถิติความร้อน ความร้อนส่วนใหญ่ เกิดจากความร้อนในระยะยาวจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยพลังงานความร้อนจำนวนมหาศาลที่ถูกเก็บกักไว้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ จะไหลลงสู่มหาสมุทรโดยตรง และมหาสมุทรเหล่านั้นใช้เวลานานกว่าปกติในการทำให้อุ่นและเย็นลงนั่นเอง