สถาปนิกชาวอินเดีย คิดค้นกำแพงลดความร้อน โดยไม่ใช้ไฟฟ้า
เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ รวมถึงอินเดียด้วย ทำให้สถาปนิกชาวอินเดียผุดไอเดียสุดบรรเจิดในการคลายร้อนให้กับบ้านและอาคาร โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าหรือสารเคมีใดๆ ด้วยเทคนิคการออกแบบที่ทันสมัยผสานกับภูมิปัญญาการคลายร้อนแบบดั้งเดิมอย่างการระเหยของน้ำ เพราะการคลายร้อนด้วยการระเหยของน้ำ เป็นเทคนิคที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์และโรมัน โดยชาวอียิปต์จะพัดโถน้ำที่มีรูพรุนเพื่อสร้างอากาศเย็น ส่วนชาวโรมันใช้วิธีแขวนผ้าชุบน้ำบนประตูบ้านและเต็นท์ หลักการคือกระบวนการที่น้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวไปเป็นไอ (ก๊าซ) จะดูดซับความร้อนจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ทำให้อุณหภูมิลดลง เกิดความรู้สึกเย็นสบาย ยกตัวอย่างเช่น ชาวญี่ปุ่นได้แนะนำเทคนิคลดความร้อน โดยเอาขวดน้ำแช่แข็งวางไว้กลางบ้าน ซึ่งมันจะดูดซับความร้อนโดยรอบและทำให้ห้องเย็นลงนั่นเอง สำหรับสถาปนิกรายนี้ เขาได้ออกออกแบบอุปกรณ์ทรงกลมคล้ายกับโถที่มีรูทั้งสองด้าน เพื่อทำให้อากาศผ่านได้ง่าย และโถนี้ยังสร้างจากดินเผา ทำให้มันไม่มีมลพิษ เขาได้โถจำนวนมาก ไปใส่ไว้ในโครงกำแพงเหล็กคล้ายกับรังผึ้ง และราดน้ำลงไป โถดินเผาจะดูดซับน้ำเข้าไป และเมื่อเจอความร้อน น้ำจะระเหยกลายเป็นไอและดูดซับความร้อนเข้าไปนั่นเอง นอกจากนี้ กำแพงรังผึ้งยังช่วยลดมลพิษทางอากาศจากผลพลอยได้ของการระเหย ซึ่งมันจะเกิดเป็นฟิล์มชีวภาพบนหม้อดินเผา ช่วยกรองอากาศให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้อีกด้วย การฟื้นฟูเทคนิคนี้ในรูปแบบกำแพงรังผึ้งแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาโบราณ ยังสามารถนำมาปรับใช้แก้ปัญหาในยุคปัจจุบันได้ แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมาก แต่ระบบทำความเย็นสมัยใหม่ก็ยังคงต้องพึ่งพาไฟฟ้าและสารเคมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้กำแพงรังผึ้งยังช่วยอนุรักษ์เทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผา ที่กำลังจะหายไปด้วยได้นั่นเอง