นักวิจัยออสเตรเลีย พัฒนาคอนกรีตกากกาแฟ แข็งแกร่งกว่าคอนกรีตทั่วไป 30%
คอนกรีตกากกาแฟนี้ ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาหลังจาก เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology University (RMIT) เปิดเผยโครงการทดสอบทางเท้าคอนกรีตจากกากกาแฟแห่งแรกของโลก โดยเป็นโครงการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นรอบๆ รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เพราะขยะอินทรีย์ที่จะถูกฝังกลบ รวมถึงกากกาแฟที่ใช้แล้ว มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3% แต่นักวิจัยที่ RMIT มุ่งมั่นที่เปลี่ยนของเสียนี้ให้เป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งนี้ขยะอินทรีย์จะไม่สามารถเติมลงในคอนกรีตได้โดยตรงเนื่องจากจะสลายตัวเมื่อเวลาผ่านไปและทำให้วัสดุก่อสร้างเสื่อมสภาพ ทีมนักวิจัยจึงพัฒนาเทคนิคเพื่อทำให้คอนกรีตแข็งแกร่งขึ้น 30% โดยพัฒนากระบวนการที่ใช้พลังงานต่ำ โดยให้ความร้อนแก่กากกาแฟที่อุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียส และไม่ต้องใช้ออกซิเจนเพื่อสร้างถ่านไบโอชาร์ นอกจากกากกาแฟแล้ว นักวิจัยยังใช้เทคนิคที่คล้ายกันในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์อื่น ๆ รวมถึงเศษไม้ ให้เป็นถ่านไบโอชาร์ ซึ่งสามารถนำมาใช้สร้างคอนกรีตที่แข็งแรงขึ้นได้เช่นกัน ถ่านไบโอชาร์จากกาแฟและเศษไม้สามารถทดแทนส่วนหนึ่งของทรายแม่น้ำที่ใช้ทำคอนกรีตได้ และทีมงานกำลังร่วมมือกับสภาท้องถิ่นของรัฐวิกตอเรียเพื่อทดลองถ่านไบโอชาร์ทั้งสองประเภทในทางเท้าคอนกรีต โดยทรายตามธรรมชาติเริ่มขาดแคลนลงตามกาลเวลา ซึ่งของเสียที่จะถูกฝังกลบนี้สามารถทดแทนทรายที่จะนำมาใช้ทำคอนกรีตได้มากถึง 15% และลดขยะที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยประเทศออสเตรเลียสร้างขยะกาแฟบด 75 ล้านกิโลกรัมทุกปี ส่วนใหญ่นำไปฝังกลบ แต่สามารถนำมาทดแทนทรายในคอนกรีตได้มากถึง 655 ล้านกิโลกรัม และกาแฟใช้แล้วทั่วโลกผลิตได้ปีละ 10 ล้านตัน ซึ่งสามารถทดแทนทรายในคอนกรีตได้มากถึง 90 ล้านตันเลยทีเดียว