นักวิจัยเตือน การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกบ่อยๆ อาจเสี่ยงโรคเบาหวาน
ข่าวเกี่ยวกับสุขภาพนี้ ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาหลังจาก เว็บไซต์ต่างประเทศ เผยผลการศึกษาของทีมนักวิจัยจาก California Polytechnic State University ในสหรัฐที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes ชี้ว่า การดื่มน้ำผ่านขวดพลาสติกบ่อยๆ อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ เนื่องจากขวดพลาสติกมีสารเคมีที่สามารถลดความไวของร่างกายต่ออินซูลินได้
ตามรายงานของทีมวิจัย พบว่า จากการสุ่มทดลองกับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี 40 คน ให้ได้รับยาหลอก หรือประมาณ 50 ไมโครกรัมต่อร่างกายหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนัก ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ถือว่า อยู่ในประเภทปลอดภัยในปัจจุบัน ซึ่งผลการทดสอบ พบว่า ผู้ที่ได้รับสาร BPA มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยพวกเขาจะตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลงหลังจากผ่านไป 4 วัน ขณะที่ การศึกษาครั้งนี้ พบว่า สาร BPA อาจลดความไวของร่างกายต่ออินซูลิน จึงส่งผลต่อการเผาผลาญกลูโคส นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ยืนยันโดยตรงว่า การบริโภค BPA เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 ในผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม สารเคมี BPA ส่วนใหญ่จะใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงขวดน้ำพลาสติก สามารถลดความไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายได้ สำหรับการวิจัยก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า BPA อาจรบกวนฮอร์โมนของมนุษย์ และแม้ว่าการวิจัยจะเชื่อมโยง BPA กับโรคเบาหวาน แต่ไม่มีการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ประเมินโดยตรงว่าการใช้สารเคมีนี้ของมนุษย์เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานในผู้ใหญ่หรือไม่ ทางด้านหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (ADA) ได้ออกมาเรียกร้องให้มีกฎระเบียบทางอุตสาหกรรมถึงปริมาณความปลอดภัยของสาร BPA ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการสัมผัสสารเคมีที่เป็นอันตรายเหล่านี้จะลดลง ผลวิจัยนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการให้คำแนะนำ และนโยบายด้านสาธารณสุขที่มีข้อมูลครบถ้วนนั่นเอง