"ข้าว" ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้จริงหรือ?
"ข้าว" ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้จริงหรือ?
กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทย ในทุกกลุ่มอายุ อวัยวะสำคัญที่พบคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด เต้านม และมะเร็งทางเดินอาหาร อัตราตายด้วยโรคมะเร็งต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 12.6 คน เป็น 68.8 คน ในช่วงปี พ.ศ. 2510-2544 (กระทรวงสาธารณสุข) อนุมูลอิสระของออกซิเจน หรือ reactive oxygen species (ROS) เกิดขึ้นได้จากกระบวนการปกติของร่างกายและเพิ่มขึ้นจากการอักเสบ การได้รับสารเคมีจากมลพิษ ยาบางชนิด การสูบบุหรี่หรือการได้รับรังสี ROS ทำให้เกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation ซึ่งส่งผลทำให้สารพิษสามารถเข้าไปทำให้เกิดความเสียหายกับเยื่อหุ้มเซลล์, ใครงสร้าง DNA และ RNA ตลอดจนชีวโมเลกุลในเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไต,โรคข้อ รวมทั้งโรคมะเร็ง
การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า การรับประทานผัก ผลไม้ รวมทั้งธัญพืช ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสามารถลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังดังกล่าวได้ นอกจากนี้การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารหลายๆประเภท จะให้ผลในการป้องกันมากกว่าการได้รับจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเนื่องจากมีฤทธิ์สร้างเสริมกัน ธัญพืชให้สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อได้รับร่วมกับสารกลุ่มที่มาจากผักและผลไม้โดยฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระในข้าวมาจากกลุ่มสารประกอบฟีนอล (Phenolic acid derivatives) พบได้มากในส่วนของรำข้าว
จากการศึกษาพบว่า ข้าวยิ่งมีสีม่วงเข้มมากประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระยิ่งมีมากขึ้น โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 35.3 ถึง 214.7 umole/g จากการศึกษาด้วยวิธี ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) โดยเฉพาะในรำข้าว "เจ้าหอมนิล" และรำข้าว "ไรซ์เบอร์รี่" มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 229 - 304.7 UMole/g และเมื่อนำข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มาเปรียบเทียบกับน้ำผลไม้พร้อมดื่มหรือน้ำชาเขียว พบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าเกือบ 100 เท่า
สำหรับกระบวนการหุงต้มข้าวที่มีสีม่วงเข้ม ด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า พบว่ามีผลทำให้ประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระลดลงประมาณร้อยละ 50 หรือลดประสิทธิภาพลงประมาณครึ่งหนึ่งของข้าวดิบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแล้วข้าวสีม่วง ยังมีคุณภาพและมีประสิทธิสูงกว่าน้ำผลไม้พร้อมดื่มหรือน้ำดื่มชาเขียวที่ขายตามท้องตลาด ซึ่งข้าวยิ่งสีเมล็ดมีความเข้มเท่าไรยิ่งทำให้มีผลในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงขึ้นเท่านั้น
จากงานวิจัยพบว่า ข้าวกล้องพันธุ์ "ไรซ์เบอร์รี่" และ"สินเหล็ก" เมื่อหุงสุกแล้ว ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระเหลืออยู่ ไม่ได้ถูกความร้อนทำลายหมด จึงเป็นแหล่งอาหารที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระสูง การที่ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียงต่อความต้องการในแต่ละวันจะช่วยลดความสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้
ข้อมูลจากหนังสือ แนวทาง...และแบบอย่างการทำนา ข้าวสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม 1 ไร่ได้เกินแสน เรียบเรียงโดย อัมพา คำวงษา
ป.ล. เพื่อนๆ สามารถอ่านกระทู้อื่น...
13 คำถามที่ควรรู้ก่อน!! ดื่มน้ำผักผลไม้ อ่านต่อได้ที่
https://exclusive.postjung.com/1554301
หรือ
สามารถติดตามกระทู้อื่นๆ ได้ตามลิงค์ข้างล่างเลยนะคะ
https://page.postjung.com/n00kky
อ้างอิงจาก: หนังสือ แนวทาง...และแบบอย่างการทำนา ข้าวสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม 1 ไร่ได้เกินแสน เรียบเรียงโดย อัมพา คำวงษา