ลัทธิบูชางู เป็นลัทธิโบราณในหลายประเทศ
หลังจากมีข่าวคนในลัทธิบูชางูผูกคอตายในบ้านเราไปไม่กี่วัน วันนี้ไปดูลัทธินี้ในต่างประเทศกันบ้าง โดยชาวอียิปต์โบราณนั้นเคยบูชางูดั่งเทพเจ้าเช่นเดียวกันกับชาวมีโนอัน ซึ่งอาศัยบนเกาะครีตในยุคโบราณ ชาวอิสราเอลโบราณบางคนถวายเครื่องบูชาแก่งูทองแดงและยังได้เผาเครื่องหอมถวายแด่รูปเคารพ สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ การสักการะเทพเจ้างูนั้นได้ครอบงำชาวเม็กซิโกโบราณด้วย ในส่วนเทพเจ้าสูงสุดของชาวมายาคืออิตซัมนาซึ่งบางครั้งมีรูปลักษณ์เป็นงู ในส่วนของเทพเจ้าของชาวตอลเตก นามว่า เควทซาลโคทล์ (Quetzalcoatl) หรือ งูขนนก ชนเผ่าตอลเตก อาศัยอยู่ตอนกลางของเม็กซิโก เป็นชนเผ่าที่เคยรบชนะชนเผ่ามายา ถือเป็นเทพแห่งการเรียนรู้ วัฒนธรรม ปรัชญา และยังถือเป็นเทพแห่งลมและฝนอีกด้วย โดยที่ชาวแอซเทก (กลุ่มชาติพันธุ์ในทางตอนกลางของเม็กซิโก) ถือว่าเทพเจ้าองค์นี้เป็นเทพแห่งการเรียนรู้และยกย่องให้เป็นผู้สร้างมนุษย์เสียด้วยซ้ำ ในภาคพื้นเอเชียก็มีการกล่าวถึงงู ในลักษณะการบูชาเปรียบเสมือนตัวแทนเทพเจ้าโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย โดยในอารยธรรมยุคต้นและสมัยก่อนพระเวทในอินเดียเองก็มีลัทธิบูชาสัตว์ ซึ่งก็รวมถึงลัทธิการบูชางูด้วย
งูนั้นชาวอินเดียเรียกว่า Naga (นาคา, นาค) ในปีปีหนึ่งจะมีชาวอินเดียโดนงูกัดตายเป็นจำนวนมาก แต่ชาวอินเดียนั้นกลับนับถืองูเป็นพระเจ้าด้วยมาจากมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่โบราณ วัฒนธรรมการบูชางูเป็นดั่งพระเจ้านั้นมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ดังเช่นมีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียในบริเวณแคว้นปัญจาบในปัจจุบัน ภายใต้การนำของเซอร์ จอห์น มาร์แชล (Sir John Marshall) ซึ่งเรียกบริเวณนี้รวมกันว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization) ซึ่งเป็นอารยธรรมในยุคสำริด โดยมีร่องรอยของอารยธรรมโบราณที่เมืองฮารับปา และเมืองโมเหนโจ-ดาโร ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดในอินเดีย ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช นั่นเอง