มรรค 8 ทางสายกลางและหนทางหลุดพ้น
ความตายมีมุมน่ากลัวซ่อนอยู่ ลองนึกตามก็ได้ว่า หากในชาติต่อๆไปเราไม่ได้เรียนรู้และฝึกฝน เพราะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะเราเกิดมาในยุคที่ไม่มีคำสั่งสอนหลงเหลืออยู่ หรือเรานับถือศาสนาอื่น หรือหากมีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่เรานับถือศาสนาพุทธแบบผิดๆ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะรับมือกับความตายได้อย่างไร เราจะมีความรู้ที่ถูกต้องแค่ไหน เราจะมีโอกาสไปเกิดในทุคติภูมิที่ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นล้านปีหรือไม่
หนทางที่จะทำให้เราหลีกหนีจากความตายที่น่ากลัวได้อย่างถาวรมีเพียงการไม่กลับมาเกิดเท่านั้น ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ต้องปฏิบัติตามมรรค 8 อย่างครบถ้วนและเคร่งครัด เพื่อจะได้บรรลุธรรมแล้วเข้าสู่นิพพานในที่สุด นี่คือเส้นทางที่ดีที่สุดที่ทำให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับความตายอีก
มรรค 8 ประการนี้คือทางสายกลางและเป็นหนทางสู่การหลุดพ้น ประกอบด้วย
(มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ 252)(วิภังคสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 19 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ 33)
- สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) หมายถึง การมีความเชื่อที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่น เชื่อว่าบุญบาปมีจริง โลกหน้ามีจริง สวรรค์นรกมีจริง ผู้ที่รู้แจ้งมีจริง รวมไปถึงการมีความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับอริยสัจที่อธิบายว่า หนทางหลุดพ้นจากความทุกข์ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
- สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) หมายถึง ความตั้งใจที่จะไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และปรารถนาจะหลุดพ้น
- สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) หมายถึง ความตั้งใจงดเว้นการทำบาปทางวาจา อันประกอบไปด้วย การไม่พูดโกหก การไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
- สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) หมายถึง ความตั้งใจงดเว้นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการผิดลูกเมียผู้อื่น
- สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) หมายถึง ความตั้งใจไม่ทำอาชีพที่ทำบาป
- สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) หมายถึง มีความมุ่งมั่นพยายามพากเพียร ตั้งจิตตั้งใจว่าจะไม่ทำบาปเพิ่ม พยายามลดละบาปที่ทำอยู่แล้ว พยายามทำบุญให้มากขึ้น และรักษาคุณงามความดีนั้นเอาไว้ให้มั่นคงยาวนาน
- สัมมาสติ (ระลึกชอบ) หมายถึง การฝึกเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4
- สัมมาสมาธิ (ตั้งใจชอบ) หมายถึง การเจริญภาวนาให้ได้ฌาน เพื่อช่วยให้มีสติที่บริบูรณ์มากยิ่งขึ้น