หมาตักน้ำ ภาชนะจากภูมิปัญญาชาวบ้าน
รู้ว่าพวกเราหลายคนมีสัตว์เลี้ยง แล้วเคยใช้สัตว์เลี้ยงทำอะไรหรือเปล่า ส่วนผมใช้หมาตักน้ำ ใช่แล้วใช้ หมาตักน้ำ เพราะหมาตักน้ำเป็นภาชนะชนิดหนึ่งนั่นเอง 5555 โดยภาชนะตักน้ำนี้ ถ้าทำมาจากต้อหมาก (กาบหมาก) ก็เรียก หมาต้อ ถ้าทำมาจากใบจากก็เรียก “หมาจาก” ถ้าทำมาจากกาบหลาชะโอนก็เรียก หมาต้อหลาโอน โดยทั่วไปเรียกว่า หมาตักน้ำ สันนิษฐานว่ามาจากภาษามลายู คำว่า ติหมา หรือ Timba หมายถึงภาชนะตักน้ำที่ทำด้วยกากหมาก ทุกวันนี้ หมาตักน้ำ ยังเป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้ เพราะทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายและมีคุณสมบัติเหมาะแก่การใช้งานได้ดี มีน้ำหนักเบา โดยเฉพาะเมื่อหย่อนหมาลงแตะบนผิวน้ำบ่อ หมาจะตะแคงแล้วคว่ำตัวได้เอง ทำให้ตักน้ำได้ง่าย แสดงให้เป็นถึงภูมิปัญญาที่เข้าใจถึงคุณลักษณะพิเศษของธรรมชาติ
นอกจากชาวบ้านใช้ตักน้ำบ่อแล้ว ยังใช้วิดน้ำเรือ หรือตักน้ำแทนขันน้ำได้ด้วย ในกรณีที่หมาทำจากใบจาก ชาวบ้านจะตัดยอดอ่อนที่มีใบรวมกันอยู่หนาแน่นมาตัดเอาแต่ใบที่มีขนาดพอเหมาะมาตากแดดให้หมาด ๆ เพื่อให้สอดใบได้สะดวก เวลาจะสอดต้องคลี่ใบข้างหนึ่งแล้วสอดให้แต่ละใบสลับโคน-ปลายไปเรื่อย ๆ ให้ปลายทั้งสองข้างมีขนาดเท่ากัน แล้วรวบปลายทั้งสองข้างเข้าหากันเพื่อผูกติดเป็นที่ถือ การผูกปลายมีสองวิธี คือ ถ้าเอาปลายทั้งสองผูกไขว้กันจะเรียกภาชนะนั้นว่า หมาโผ้ (หมาตัวผู้) แต่ถ้าเอาปลายสองข้างมาสอดผูกแนบกันแล้วมัดรวมจะเรียกว่า หมาเหมีย (หมาตัวเมีย) และเพื่อให้มีความทนทาน ก็ใช้หวายหรือคล้าแทงเย็บรอยต่อระหว่างใบจากแต่ละใบตามแนวขวาง ในปัจจุบันแม้จะมีภาชนะตักน้ำสมัยใหม่ที่ทำเป็นอุตสาหกรรมโดยใช้วัสดุอื่น คือ พลาสติกและสังกะสีหรืออะลูมิเนียม แต่ชาวบ้านในภาคใต้จำนวนมากก็ยังนิยมใช้หมากันแพร่หลายอยู่มาก โดยเฉพาะในชุมชนชนบททั่วไปนั่นเอง . . . ถือว่าเป็นภาชนะที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ผมเคยใช้ น้ำหนักเบา ใช้แทนประป๋องทั่วไปได้เลย