ความหวังใหม่ในการกำจัดขยะพลาสติก ด้วยแบคทีเรีย
หนึ่งในมลภาวะของโลกคือขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ส่งผลโดยตรงกับมนุษย์และสัตว์ เพราะมันย่อยสลายได้ยาก แต่ก็มีข่าวดีมื่อมีการนำแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus Subtilis) มาผสมในการทำพลาสติกได้ แบคทีเรียชนิดนี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในวัตถุเจือปนอาหารและโพรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่ช่วยย่อยสลาย โพลียูรีเทน (Polyurethanes) หรือพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เคสโทรศัพท์ และ รองเท้ากีฬา เป็นต้น ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีการรีไซเคิลที่ยากและมักจะถูกนำไปฝังกลบ ทำให้สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม นักวิจัยชื่อว่า Han Sol Kim และทีมจาก University of California ได้คิดการผสมสปอร์ของแบคทีเรียกินพลาสติกเข้าไปในพลาสติก ทำให้เกิดพลาสติกชนิดใหม่ที่สามารถย่อยสลายตัวเองได้ โดยสปอร์นี้จะไม่เคลื่อนไหวในช่วงอายุการใช้งานของพลาสติก แต่จะกลับมามีชีวิตและเริ่มย่อยสลายผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้นทันที เมื่อสัมผัสกับสารอาหารที่อยู่ในกองปุ๋ยหมัก ผลการคิดค้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2024 พลาสติกที่มีสปอร์เหล่านี้ยังมีความทนทานมากขึ้น ช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับพลาสติกได้นาน ทำให้ลดการทิ้งพลาสติกได้อีกด้วย ปัจจุบัน การผลิตพลาสติกชนิดย่อยสลายตัวเองยังอยู่ระหว่างการทดลอง แต่ Han Sol Kim มั่นใจว่าจะใช้งานได้จริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากมีธุรกิจผู้ผลิตพลาสติกเข้ามามีส่วนร่วมหรือลงทุนในงานวิจัยของเขา งานวิจัยนี้อาจมาช่วยกู้โลกจากวิกฤตขยะพลาสติกได้ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางคนออกมาท้วงติงว่า ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ในลักษณะนี้ เพราะมันอาจให้ความรู้สึกว่า เราควรลดความกังวลให้น้อยลงเกี่ยวกับมลพิษพลาสติก เพราะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมมันจะย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เพราะในความเป็นจริงสำหรับพลาสติกส่วนใหญ่มันไม่เป็นเช่นนั้น . . . ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อนจากการลดการใช้พลาสติกหรือไม่ก็นำมาใช้ซ้ำ