“ตาพรหมเก็ล” โรงพยาบาลชุมชนแห่งนครวัด ปราสาทหินที่ “...รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อปราสาทเขมรกลับมาไว้ในกรุงเทพฯ ซักหลัง..."
“ปราสาทตาพรหมเก็ล” (Ta Prohm Kel) เป็นปราสาทแบบ “อาโรคยศาลา” (ĀrogyaŚālā) ในหรือ “วลภิปฺราสาท” (Valabhi prāsādā) (ออกเสียงสันสกฤตตามจารึกปราสาทตาพรหม) เป็นปราสาทหลังเล็กที่ตั้งอยู่นอกเมืองพระนครธมทางทิศใต้ ฝั่งตะวันตกใกล้กับมุมคูน้ำปราสาทนครวัด เป็นปราสาทแบบ “สุคตาลัย” (Sugatālaya/Chapel of Hospital) หรือ "หอพระ" (Shrine) ของโรงพยาบาลประจำชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบปราสาทนครวัดในยุคโบราณ
ปราสาทหลังนี้ สร้างขึ้นด้วยหินทรายทั้งหลัง มีรูปแกะสลักที่สวยงาม ตามแบบศิลปะบายน ทั้งรูปสลักนางอัปสราอันวิจิตร หลากสไตล์ อยู่ตามมุมของผนังเรือนปราสาท จัดเป็นปราสาทแบบอโรคยศาลา 1 ใน 5 แห่ง ประจำเมืองพระนครหลวง ที่เป็นต้นแบบสำคัญของปราสาท ในรูปแบบ/หน้าที่เดียวกัน
ที่หน้าบันด้านหน้า ของปราสาทอาโรคยศาลา ต้นแบบทั้งห้าหลังของเมืองพระนคร จะสลักเป็นรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร “โลเกศฺวร อาโรคยศาลี” 4 กร แสดงอานุภาพบารมี แห่งการบริบาลรักษาโรคร้าย ทั้งทางกายและใจ แวดล้อมด้วยเทพธิดา นางฟ้าบนสรวงสวรรค์ ที่อยู่ในอาการเหาะเหิน โปรยดอกไม้พฤกษามาลัยสาย และเหล่าเทพยดานั่งเรียงแถว ประณมพระหัตถ์ ถือดอกบัวปทุมที่พระอุระ แสดงการสักการะ อยู่ด้านข้างและด้านล่าง
แต่กระนั้น รูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่หน้าบัน สำคัญของทุกปราสาท ก็ได้ถูกแก้ไขดัดแปลงให้เป็นรูปพระศิวะ หรือไม่ก็ถูกขูดทำลายสกัดออก ตามความเชื่อของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรพระองค์ใหม่ ที่ทรงโปรดให้ฟื้นฟูลัทธิเทวราช แห่งไศวะนิกายขึ้นใหม่ ส่วนรูปสลักพระพุทธเจ้าในส่วนประดับต่าง ๆ ของตัวปราสาท ถูกกะเทาะทิ้งออกทั้งหมด
แต่ทับหลัง ภายในคูหามุขหน้าของปราสาทตาพรมเก็ลนี้ กลับยังคงมีภาพสลักของ “ปัญจสุคต–ปัญจชินะ-ศรีฆนะ” (Paῆca Sugatā - Paῆca jina – Śrīghana Buddhas) หรือพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ในคติมหายาน-วัชรยาน เหลือรอดจากการถูกขูดสกัดทำลาย ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 มาได้ และถือเป็นภาพสลักพระพุทธเจ้า 5 พระองค์เพียงชิ้นเดียว ที่เหลือรอดจากอดีต ในเมืองพระนครศรียโศธระปุระก็ว่าได้
ที่ปราสาทหลังนี้ ยังมีหลักฐานสำคัญเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการรักษาพยาบาลของอโรคยศาลา เป็นภาพสลักแทรกอยู่ในวงในของลายก้านขดที่หน้ากระดานลวดบัวของฐานฝั่งทิศเหนือ ที่อาจเป็นการเล่าเรื่องการตำยาสมุนไพรด้วยครกกระเดื่อง การทำคลอด และการรักษาโรคโดย “ยัญกิจ” (Yãjaka - ชื่อผู้ทำงานประจำอาโรคยศาลาในจารึก)
ที่น่าตื่นเต้นก็คือ ลวดลายในกรอบวงกลมแบบภาพนูนต่ำประดับผนังกรอบประตูด้านหน้าสุด ยังแสดงให้เห็นภาพวิถีชีวิตของ “ผู้คน” ในอิริยาบถต่าง ๆ ซึ่งเมื่อได้พบเห็น ก็อาจมโนได้ว่า เป็นภาพของผู้คนในชุมชน (สฺรุก) ที่อยู่แวดล้อมปราสาทอาโรคยศาลาหลังนี้ (เอาไว้ก่อน) มีทั้ง ภาพคนกับลิง ผู้หญิงตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง คนหาบข้าว ภาพนักบวชกำลังรักษาโรคด้วยการดัดตัว ภาพนักบวชถือกระจาดสาน นักบวชหาบของ หาบอ้อย รูปกินรี รถเทียมวัวแบบเอาภาพสองวงมาต่อกัน บุคคลนั่งถือของ ถือพัด
ภาพสลักนูนต่ำประดับผนังกรอบประตู ในกรอบวงกลม ในขนบรูปแบบวิถีชีวิต ของผู้คนในยุคโบราณนี้ ก็ยังไม่เคยพบเห็นจากปราสาทหินหลังอื่น ๆ
ที่บริเวณโดยรอบปราสาทตาพรหมเก็ล ยังมีร่องรอยของการจัดวางหิน เรียงเป็นแถวเป็นแนวไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยเฉพาะส่วนเรือนธาตุ และวิมานของตัวปราสาทฝั่งตะวันตกเฉียงใต้นั้น ได้หายไปเกือบทั้งหมด ซึ่งตามลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการพังทลาย เพราะถ้าเป็นการพังทลาย หินก็จะถล่มลงมากองทับถม จนกลายเป็นเนินดินอยู่โดยรอบ อย่างไม่เป็นระเบียบ แต่เป็นลักษณะของการ "รื้อหิน" และชักลากมาวางแยกเป็นกลุ่มไว้อย่างตั้งใจ ตัวปราสาทไม่มีร่องรอยการทับถมของดิน ที่ควรทับถมสูงจากเวลาอันยาวนาน ดังตัวอย่างภายในห้องคูหามุขหน้า ที่ยังมีดินทับถมอยู่
เล่ากันมาโดยชาวเขมร ให้ชาวฝรั่งเศสฟังว่า ปราสาทตาพรหมเก็ลหลังนี้แหละ ก็คือ “ปราสาทตาไผทตาพรหม” ในบันทึกของฝ่ายสยาม ที่รัชกาลที่ 4 ทรงเลือกและทรงมีรับสั่งให้ พระสุพรรณพิศาลกับขุนชาติวิชา เดินทางมาสำรวจปราสาทหินในฝั่งเขมร เพื่อจะรื้อย้ายมาไว้ในกรุงเทพ ฯ ซักหลัง บันทึกการสำรวจกล่าวว่า “...พระสุพรรณพิศาลกับขุนชาติวิชากลับมาทูลรายงานว่า ได้ไปสำรวจมาหลายตำบลแล้ว ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นปราสาทใหญ่ ๆ รื้อมาคงไม่ได้ แต่ที่เมืองเสียมราฐ มีปราสาทไผทตาพรหม อยู่ 2 หลัง สูงแค่ 6 วา (12 เมตร) เห็นว่าพอจะรื้อเข้ามาได้ ...”
ความสูงและจำนวนนับเพียง 2 หลัง จึงอาจไม่ใช่กลุ่มปราสาทตาพรหม ที่เป็นหมู่ปราสาทขนาดใหญ่ในท่ามกลางป่ารกชัฏ ที่มีปราสาทใหญ่น้อยหลายสิบหลัง และชื่อนาม “ตาพรม” นั้น ก็มีอยู่แค่เพียงสองหลังในเมืองเสียมราฐ คือปราสาทตาพรหมและปราสาทตาพรหมเก็ล ที่เป็นปราสาทขนาดเล็กหลังนี้เท่านั้น
ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดฯ ให้มีตราไปเกณฑ์คนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองพนมศก เป็นแรงงานให้พระพิศาลไปรื้อปราสาทผไทตาพรหมเข้ามา โดยแบ่งกำลังคนออกเป็น 4 ผลัด ๆ ละ 500 คน ซึ่งต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (นอง) ได้ส่งพระยาอานุภาพไตรภพ เจ้าเมืองเสียมราฐ เข้ามากราบทูลว่า ได้เกณฑ์คนให้พระสุพรรณพิศาลตามรับสั่งแล้ว แต่พอตั้งพิธีพลีกรรมบวงสรวงและลงมือรื้อปราสาทเมื่อวันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2403 (วันพุธ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน6 ปีวอก) ปรากฏว่ามีชาวเขมรประมาณ 300 คนออกมาจากป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาท ฆ่าพระสุพรรณพิศาลกับพระวังและลูกชายของพระสุวรรณพิศาลตาย รวม 3 คน ทั้งยังไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตร และคนอื่น ๆ บาดเจ็บอีกหลายคน แต่พวกที่ถูกเกณฑ์แรงงานมาไม่ถูกทำร้าย จากนั้นก็หนีกลับเข้าป่าไป
ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า " ... แต่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงลดละความพยายาม กลับมีพระราชบัญชาให้เดินหน้าต่อไปให้เอาเข้ามาให้จงได้ เหล่าเสนาบดีในกรุงเทพ ฯ อดรนทนดูไม่ได้ จึงเข้าชื่อกันทำเรื่องถวายว่า เหลือกำลังที่จะรื้อไหว และถ้ารื้อลงแล้วเอาเข้ามาปรับปรุงทำขึ้นใหม่ไม่ได้ ก็จะเสียพระเกียรติยศไปอีก เมื่อทรงทราบเรื่องราวแล้วจึงมีรับสั่งให้ระงับเสีย...” แต่ก็ยังไม่ทรงล้มเลิกแผนการนำปราสาทหินมาไว้ในกรุงเทพฯ เสียเลยทีเดียว
ถึงมาถึงปี พ.ศ. 2410 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าความหวังที่จะรักษาเมืองเขมรจากฝรั่งเศสไว้เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ แม้แต่จะรื้อปราสาทเขมรสักหลังหนึ่งเข้ามาก็ประสบแต่ความล้มเหลวไม่ว่าวิธีใด แต่เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งความเป็นเจ้าอธิราชของราชวงศ์จักรีเหนือเขมร จึงโปรดให้เจ้าพนักงานเดินทางไปเสียมราฐเพื่อถ่ายรูปปราสาทนครวัดจำลองเข้ามา ดังความว่า
... เมื่อ ณ เดือน 3 แรม 13 ค่ำ ปีขาล อัฐศก โปรดเกล้า ฯ ให้พระสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทที่พระนครวัด จะจำลองทำขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของอัศจรรย์"
ปราสาทตาพรหมเก็ล ถึงแม้จะเป็นเพียงปราสาทหลังเล็ก ๆ ที่ดูไม่มีความสำคัญตรงหน้าปราสาทนครวัดที่ผู้คนมักผ่านเลยไป แต่กลับแฝงภาพสลักที่หาได้ยากในเมืองพระนคร รวมทั้งภาพวิถีชีวิตผู้คนในยุคที่รุ่งเรืองและเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์
อ้างอิงจาก: แหล่งที่มาของข้อมูล