ค้างคาวหัวค้อน พาหะนำโรคร้ายไปแพร่กระจาย
ถ้าพูดถึงค้างคาวกินผลไม้ขนาดใหญ่ในบ้านเรา คนทั่วไปมักจะนึกถึงค้างคาวแม่ไก่กัน วันนี้ผมจะพาไปทำความรู้จักกับค้างคาวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งหน้าตามันออกจะแปลกๆอยู่สักหน่อย(เพราะเราไม่คุ้นเคยมั๊ง) ค้างคาวที่ว่านั้นคือ ค้างคาวหัวค้อน หรือ Hammer-Headed Bat นั่นเอง เป็นค้างคาวขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ค้างคาวผลไม้ ที่พบได้ในทางตอนกลาง และทางตะวันตกของแอฟริกา ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่โต ความยาวทั้งตัวประมาณ 25 เซนติเมตร แต่มีความกว้างของปีกทั้งสองข้างมากถึง 1 เมตร นั่นทำให้มันดูมีขนาดตัวใหญ่โต ซึ่งเป็นค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกานั่นเอง ถึงอย่างนั้นพวกมันก็มีน้ำหนักตัวเพียง 275 ถึง 400 กรัมเท่านั้นเอง รอบตัวมีขนสั้นสีน้ำตาลอมเทา และส่วนคอมีสีออกโทนขาวมากกว่า ปีกและหูไม่มีขน มีสีน้ำตาลเข้ม โดยปกติแล้วส่วนปากขนาดใหญ่ของมัน จะมีกล่องเสียงขนาดใหญ่อยู่ภายในด้วย นอกจากนี้รูปร่างหัวสุดแปลกของมันยังทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสียงออกไปสำหรับหาคู่อีกด้วย สามารถพบรวมกลุ่มกันทั้งตัวผู้ และตัวเมียในกลุ่มเดียวกันได้ตั้งแต่ 4 ถึง 25 ตัวต่อฝูง ซึ่งต่างจากค้างคาวชนิดอื่นที่ตัวผู้ และตัวเมียจะอยู่แยกกลุ่มกัน เช่นเดียวกับค้างคาวทั่วไปที่มักจะนอนอยู่พักผ่อนในเวลากลางวัน และออกหาอาหารในเวลากลางคืนเป็นหลัก โดยค้างคาวชนิดนี้นั้น เป็นสัตว์กินพืช ซึ่งกินผลมะเดื่อเป็นหลัก รวมไปถึงมะม่วง และกล้วย ไปจนถึงผลฝรั่ง ในบางครั้งสามารถบินได้ไกลถึง 10 กิโลเมตรต่อวัน เพื่อหาแหล่งอาหารอีกด้วย ด้วยพฤติกรรมการกินของพวกมันที่ทำการดูดกินเฉพาะน้ำ หรือของเหลวภายใน และคายกากทิ้งไว้ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ค้างคาวชนิดนี้กลายเป็นศัตรูตัวสำคัญของธรรมชาติ เพราะมันเป็นเพียงค้างคาวไม่กี่ชนิดในแอฟริกาที่เป็นพาหะนำโรค ไวรัสอีโบล่า (Ebola virus) โดยมันไม่แสดงอาการใดๆออกมาเลย ซึ่งนักวิจัยยังคงหาคำตอบอยู่ว่า มันเป็นพาหะโดยบังเอิญ หรือเป็นเพียงการสะสมไวรัสไว้เท่านั้น แต่การทิ้งเปลือกของอาหารไว้หลังกินของพวกมัน โดยเฉพาะตัวที่มีเชื้อไวรัสอยู่ จะทำให้สัตว์ต่างๆมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นโดยเฉพาะกอริลลาในประเทศคองโกและกาบอง ที่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด นับได้ว่าเป็นตัวพาหะที่นำความหายนะไปแพร่กระจายจริงๆ