" ฝาง " ส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัยทิพย์
พวกเรายังจำกลิ่นของน้ำยาอุทัยทิพย์กันได้ไหม ส่วนผมยังจำได้ดีถึงแม้จะไม่ได้กินน้ำที่หยดน้ำยานี้ใส่มานานแล้วก็ตาม แล้วพวกเราเคยรู้กันไหมว่าส่วนผสมหลักๆของน้ำยาชนิดนี้มันคืออะไร งั้นขอเฉลยเลยแล้วกันว่ามันคือ ฝาง โดยฝางเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย โดยสามารถพบได้ตามประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตร้อนดังกล่าว เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม รวมถึงทางตอนใต้ของจีน ต้นฝางมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Caesalpinia sappan Linn เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง บริเวณลำต้นและกิ่งจะมีหนาม ลักษณะใบเป็นใบรวม มีการเรียงใบคล้ายกับต้นหางนกยูงไทย ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอด ดอกมีสีเหลือง ตรงกลางดอกมีสีแดง ผลเป็นฝักรูปเหลี่ยมคล้ายกับถั่วแปบ มีความแข็ง สีน้ำตาล
ฝักของฝางนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดแก่นสีเหลืองเรียกว่า ฝางส้ม และแก่นสีแดงเข้มเรียกว่า ฝางเสน ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน ส่วนฝางที่นำมาใช้ประโยชน์ด้านการย้อมสี คือ การนำส่วนของแก่น และฝัก น้ำต้มจากแก่นฝางจะให้สีแดง นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัยทิพย์ หรือใช้ผสมน้ำดื่ม และใช้สำหรับทำสีผสมอาหาร ส่วนฝางส้มนิยมแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม อีกทั้งยังมีการสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์อีกด้วย นอกจากนี้ฝางยังมีสรรพคุณทางยาอีกมาก เช่น บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน ช่วยลดอาการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด
ช่วยรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่วนสารสกัดจากแก่นฝางมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงนำมาเป็นส่วนผสมในยา และเครื่องสำอางประเภทครีม เจล และโลชั่น เพื่อใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้นฝางมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย ปัจจุบันจึงเริ่มนิยมปลูก และขยายพันธุ์เพื่อการพาณิชย์มากขึ้น นับว่าเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์หลายด้านจริงๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่ฝางนั้นมีราคาไม่น้อยเลยทีเดียว