การจัดการภัยพิบัติยั่งยืน (Sustainable Disaster Management)...How to ?
ภัยพิบัติ (Disaster) เป็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมใดๆที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Natural Disaster) และเรื่องราวที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ (Man-made or Technological Disaster) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการเสียสมดุลแก่มนุษย์ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างภัยพิบัติตามธรรมชาติ (Natural Disaster) ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลที่ทุกคนต่างก็คาดไม่ถึง มีดังต่อไปนี้ แผ่นดินไหวรุนแรงที่ทำให้ตึกถล่มบ้านเรือนพังทลาย และแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ (An earthquake that causes a tsunami) ซึ่งทั้งสองลักษณะต่างก็ล้วนทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินทั้งในบริเวณที่เกิดภัยพิบัติ และบริเวณใกล้เคียงตามมาด้วย ซึ่งในระยะแรกความสูญเสียเป็นลักษณะทางกายภาพที่จะต้องเร่งแก้ไขฉับพลัน แต่ในระยะยาว มีปัญหาด้านจิตสังคมที่เกิดจากการไร้ที่อยู่อาศัย เด็กกำพร้าบิดามารดา หรือบิดามารดาสูญเสียบุตรอันเป็นที่รักไปอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว และไม่อาจปรับความรู้สึกในการมีชีวิตโดยปราศจากบุคคลที่สูญเสียไปได้ในเร็ววัน
ตัวอย่างภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ (Man-made or Technological Disaster) ที่คุกคามสวัสดิภาพมากที่สุดก็คือ อุบัติเหตุต่างๆเช่น ไฟไหม้ รถชน โรงงานแก๊สระเบิด การรั่วของสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ภัยอันตรายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้ามีองค์ความรู้ในการจัดการที่ดีและมีความตระหนักในด้านอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม
บทเรียนที่ได้รับก็คือ ผู้บริหารประเทศไทยยังขาดการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ (Disaster Management) และคนไทยส่วนใหญ่ขาดข้อมูล และมีองค์ความรู้ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือตนเองในภาวะวิกฤติ (Crisis Intervention) การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างกระจัดกระจายและผูกขาด ส่วนประชาชนและภาคธุรกิจจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็เนื่องมาจาก การได้รับข้อมูลที่ไม่แม่นยำและไม่แน่นอนจากภาครัฐ การเตรียมตัวรับเหตุการณ์และการตัดสินใจเผชิญสถานการณ์จึงไม่ทันท่วงที ประกอบกับขาดองค์ความรู้และทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
ภัยพิบัติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือ ภัยจากความรุนแรงของการต่อสู้ทางความคิดของมนุษย์ เช่น การก่อการร้าย การมุ่งฆ่าคนบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ และการเสียชีวิตในสถานการณ์จราจลต่างๆ ซึ่งมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จากตัวอย่างปัญหาภัยพิบัติที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ส่วนมากเป็นสิ่งที่ประชาชนหวาดกลัวในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง การดำเนินการเชิงรุกและป้องกันก็จะค่อยเงียบหายไป การที่จะทำงานเชิงรุกและป้องกัน (Preventive Approach) ต้องเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานสามส่วนดังต่อไปนี้
1.การจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติอย่างสร้างสรรค์ ทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ (Initiative to boost disaster management capacity) และกระจายแผนงานสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระจายให้ทั่วถึงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
2.ประสานงานกระทรวงศึกษาธิการให้บรรจุเรื่องภัยพิบัติและการรับมือสถานการณ์อันตรายอยู่ในกลุ่มสาระของการศึกษาในทุกช่วงระดับชั้น (Coping skills and principles of emergency management) พร้อมทั้งฝึกอบรมให้ครูมีความเชี่ยวชาญในการสอนและฝึกทักษะการเผชิญสภาวะอันตราย และกำหนดให้เป็นนโยบายสู่สถานศึกษาทั่วราชอาณาจักร
3.ผลักดันให้ทั้งสองข้อดังกล่าว เป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงถึงกันเมื่อเกิดสถานการณ์อันตราย และร่วมมือกันในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยการสูญเสียน้อยที่สุด
การดำเนินการทั้ง 3 ประการนี้จะช่วยให้ความสูญเสียที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มีความรุนแรงน้อยลง และเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ก่อนเข้าสู่การบรรเทาความทุกข์และเยียวยาเพื่อให้ผู้รอดชีวิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง และยังคงมีความหวังในการใช้ชีวิตที่ต้องสูญเสียได้อย่างเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันก็ต้องฟื้นฟูด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายให้เข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง หากทำได้เช่นนี้ นับว่าเป็นหลักการจัดการป้องกันภัยเชิงรุกและจัดการภัยพิบัติยั่งยืน(Sustainable Disaster Management) อย่างแท้จริง
+++______________________________________________________________________________+++
รูปภาพ : เครดิตบนภาพ